ร้อยเอ็ด 6 พ.ค.-รมช.พาณิชย์ เดินหน้าส่งเสริมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นเครื่องมือสร้างมูลค่าให้สินค้าท้องถิ่นโดยลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด วางระบบควบคุมคุณภาพสินค้า “ผ้าไหมสาเกต” สินค้า GI ล่าสุดของภาคอีสาน พร้อมผุดโปรเจคผนึกกำลัง GI ภาคอีสานในกลุ่มสินค้าอาหารและผ้าพื้นเมืองเป็น Soft Power ส่งออกอัตลักษณ์ท้องถิ่นไทยสู่สายตาชาวโลก เชื่อมโยงแหล่งผลิตสินค้า GI สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่น
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานมอบหนังสือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ผ้าไหมสาเกต” แก่นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด โดยกรมฯ ได้ขึ้นทะเบียน GI ไทย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 65 ที่ผ่านมา โดยนำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจเยี่ยมแหล่งผลิตสินค้าGI “ผ้าไหมสาเกต” ซึ่งปัจจุบันมีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัด 19 กลุ่ม สามารถผลิตสินค้าพื้นบ้านกว่า 15,000 ผืน/ปี ในราคาจำหน่าย 1,800 – 2,500 บาท/ผืน สร้างรายได้ให้กับชุมชนไม่น้อยกว่า 27 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมประชุมวางแนวทางจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน GI เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค รองรับการส่งออกและการยื่นขอรับความคุ้มครอง GI ในต่างประเทศ โดยมีตลาดส่งออกสำคัญในประเทศญี่ปุ่น
“ในภาคอีสานมีสินค้า GI ไทยหลากหลายรายการที่มีคุณภาพพร้อมเป็น Soft Power ของไทย สามารถถ่ายทอดอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี อาทิ ผ้าไหมสาเกต จังหวัดร้อยเอ็ด เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ครอบคลุมทุกจังหวัดของภาคอีสาน ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคามและยโสธร และข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น โดยสินค้า GI เหล่านี้ได้สร้างเม็ดเงิน สร้างงานสร้างรายได้ ให้แก่ท้องถิ่นอีสานกว่า 300 ล้านบาท/ปี อีกทั้งยังสามารถเชื่อมโยงสู่ภาคการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม แหล่งผลิตสินค้า GI ให้มีศักยภาพต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้าสู่จังหวัด สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นในทุกมิติ”นายสินิตย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังได้มอบนโยบายการส่งเสริม GI ไทยอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทั้งการขึ้นทะเบียนให้ความคุ้มครองการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า และการจัดหาช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมสนับสนุนสินค้า GI ไทย ซึ่งเป็นของดีมีคุณภาพที่ส่งตรงจากแหล่งผลิตโดยตรง โดยติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook : GI Thailand และYoutube : GI Thailand Official ได้.-สำนักข่าวไทย