กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – ศูนย์วิจัยฯ ธ.ก.ส. คาดราคาสินค้าเดือน เม.ย. ปรับตัวสูงขึ้น จากปัญหาโควิด-19 ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้นจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ดันราคาสินค้าเกษตรพุ่ง
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนเมษายน 2565 สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคา 11,693-12,548 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.32-7.65 เนื่องจากความต้องการจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคา 8,198-8,240 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.86-1.38
เนื่องจากราคาน้ำมันดิบเพิ่มและความกังวลในค่าระวางเรือที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดิม น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก 19.38-19.46 เซนต์/ปอนด์ (14.33-14.39 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.74-1.15 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น ส่งผลให้บราซิลเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล จากเดิมที่เคยผลิตเอทานอลที่ร้อยละ 71.42 ได้ปรับสัดส่วนไปผลิตเอทานอลทั้งหมด (100%) ด้านอินเดียได้เพิ่มการส่งออกน้ำตาลกว่า 7.5 ล้านตัน จากเดิม 6 ล้านตัน จึงอาจส่งผลให้ราคาน้ำตาลไม่ปรับตัวเพิ่มมากนัก มันสำปะหลัง ราคา 2.31-2.40 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.43-4.35 เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้น ควบคู่กับความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคา 9.05-9.11 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.23-0.93 เนื่องจากในช่วงเก็บเกี่ยวเป็นช่วงฤดูแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ซึ่งตรงข้ามกับความต้องการตลาด ที่ต้องการข้าวโพดไปใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในการผลิตอาหารสัตว์ ปาล์มน้ำมัน ราคา 9.66-11.86 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.83-23.79 จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปุ๋ยขาดแคลนในตลาดโลก และผู้ส่งออกหลักอย่างประเทศจีนลดการส่งออกปุ๋ยเคมี ทำให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ราคา 63.21-64.39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 4.48-6.43 เนื่องจากราคายางสงเคราะห์ที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ประกอบกับผลผลิตยางพาราของไทยลดลงในฤดูกาลปิดกรีดยางพารา อีกทั้งปัญหาโรคใบร่วงชนิดใหม่ในประเทศผู้ผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม
กุ้งขาวแวนนาไม ราคา 169.64-171.93 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.58-2.95 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และกำลังจะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ทำให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคกุ้งในประเทศสูงขึ้น นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ไทยสามารถส่งออกกุ้งไปยังประเทศคู่ค้าได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย
ด้านสุกร ราคา 88.79-91.19 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.13-3.87 เนื่องจากความต้องการบริโภคสุกรเพิ่มขึ้น จากการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และเช็งเม้ง ประกอบกับต้นทุนค่าอาหารสัตว์และค่าขนส่งสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสุกรยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโคเนื้อ ราคา 100-110 บาท/กก. ปรับตัวขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.54-10.60 เนื่องจากในเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร คึกคักมากขึ้น ความต้องการบริโภคเนื้อโคปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ด้านสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว ราคา 8,871-8,901 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน ร้อยละ 1.06-1.39 เนื่องจากผลผลิตข้าวเหนียวนาปรังเริ่มออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ ส่งผลให้ราคาปรับตัวลงเล็กน้อย. – สำนักข่าวไทย