กรุงเทพฯ 23 มี.ค. – กองทุนน้ำมันฯ มั่นใจแบงก์จะยื่นประมูลเงินกู้กองทุนน้ำมันฯ รอบใหม่ 31 มี.ค. 2 หมื่นล้านบาท หลังรัฐบาลเห็นชอบทยอยปรับราคาอุดหนุนทั้งดีเซล-ก๊าซหุงต้ม ด้านรัฐบาลแถลงความชัดเจนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง พรุ่งนี้
ทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) เวลา 13.30 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะร่วมแถลงรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือประชาชน ที่ทำเนียบรัฐบาล หลัง ครม.เห็นชอบไปเมื่อวานนี้ (22 มี.ค.)
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า สำนักงานฯ ได้เปิดให้สถาบันการเงินเสนอเงื่อนไขประมูลปล่อยกู้แก่กองทุนน้ำมันฯ 2 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 21 มี.ค.นี้ จากเดิมที่เคยเปิดให้เสนอเมื่อวันที่ 31 ม.ค. แต่ยังไม่มีผู้ให้กู้ โดยจากที่รัฐบาลเห็นชอบการปรับราคาการอุดหนุน ทั้งการขยับราคาก๊าซหุงต้ม 1 บาท/กก./เดือน รวม 3 เดือน เริ่ม 1 เม.ย.นี้ โดยรวมจะปรับจากถังขนาด 15 กก. จาก 318 บาท ในปัจจุบัน เป็น 363 บาท ในเดือน มิ.ย.นี้ และการขยับเพดานดูแลดีเซล 30 บาท/ลิตร เป็นการดูแลเพียงครึ่งเดียวในกรณีเกิน 30 บาท มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป ก็คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความมั่นใจในการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินว่า กองทุนฯ จะมีเงินเพียงพอในการชำระหนี้คืนได้ภายในระยะเวลากำหนด 3 ปี
“วันพรุ่งนี้ รัฐบาลนำโดยนายสุพัฒนพงษ์ จะแถลงเรื่องเงื่อนไขดูแลราคาพลังงานทั้งหมด ซึ่งการขยับกรอบราคาแอลพีจี/ดีเซล จะทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ดีขึ้น และหากราคาน้ำมันโลกลดลงได้ เราก็จะเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพื่อชำระหนี้ได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเกิดเหตุการณ์อื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามคาด ทางภาครัฐก็สามารถนำเงินอื่นๆ มาสนับสนุนกองทุนฯ ได้ตามมาตรา 6(2)” นายวิศักดิ์ กล่าว
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 ติดลบ 32,831 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 4,028 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 28,803 ล้านบาท จำนวนเงินฝากที่กระทรวงการคลังและสถาบันการเงินมีจำนวน 16,500 ล้านบาท สภาพคล่อง ณ วันที่ 22 มีนาคม 2565 กลุ่มน้ำมันมีรายจ่ายวันละ 546.12 ล้านบาท กลุ่มก๊าซ LPG มีรายจ่ายวันละ 87.18 ล้านบาท มีเงินไหลออก 1.9 หมื่นล้านบาท/เดือน แบ่งเป็นอุดหนุนดีเซล 1.6 หมื่นล้านบาท อุดหนุนแอลพีจี 3 หมื่นล้านบาท
โดยผลกระทบอย่างหนักต่อราคาน้ำมันและกองทุนน้ำมันฯ เกิดจากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนเนื่องจากความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ราคาน้ำมันดูไบ อยู่ที่ 111.15 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ราคาเบนซินอยู่ที่ 133.22 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ราคาดีเซลอยู่ที่ 139.51 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อพิจารณาปรับอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1-22 มีนาคม 2565 จำนวน 13 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการปรับเพิ่มลดตามราคาน้ำมันที่ขึ้นลง เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 30 บาท/ลิตร และค่าการตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.40 บาท/ลิตร ล่าสุดวันที่ 22 มีนาคม 2565 อัตราชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 7.97 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ การกู้ยืมเงินกองทุนน้ำมันฯ รอบแรก 2 หมื่นล้านบาท ยังเป็นไปตามเป้าหมายว่าจะได้สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในเดือนเมษายน 2565 ส่วนรอบต่อไปจะกู้อีก 1 หมื่นล้านบาท และรอบต่อๆ ไปจะกู้ยืมอีกมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาพรวม ทั้งราคาตลาดโลกและนโยบายภาครัฐในการขยับราคาต่างๆ เช่น กรณีดีเซลหากอุดหนุนครึ่งหนึ่ง หากเกิน 30 บาท ตามเกณฑ์ราคาในปัจจุบัน ดีเซลก็จะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 34 บาท/ลิตร
ส่วนราคาแอลพีจีที่จะขยับขึ้น 1 บาท/กก./เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.65 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีรายจ่ายเพื่ออุดหนุนราคาขายปลีก โดยในเดือนเมษายน 2565 มีรายจ่ายประมาณ 2,418 ล้านบาท/เดือน เดือนพฤษภาคม 2565 มีรายจ่ายประมาณ 2,133 ล้านบาท/เดือน และเดือนมิถุนายน 2565 มีรายจ่ายประมาณ 1,849 ล้านบาท/เดือน.- สำนักข่าวไทย