กรุงเทพฯ 21 มี.ค.- เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ.เผยค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มขึ้นตามราคาน้ำมัน-LNG จากเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเป็นหลัก
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อวิกฤติราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ราคาเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันปรับตัวสูงต่อเนื่อง ทำให้กกพ. ต้องปรับสมมุติฐานการประมาณการค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์การใช้ก๊าซ LNG เพิ่มเติม ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงในช่วงเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัมปทานรายใหม่ในแหล่งก๊าซเอราวัณ โดยปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ 60% ส่วนอีก 40% เป็นเชื้อเพลิงอื่นๆ ซึ่งเชื้อเพลิงอื่นก็ขึ้นราคา แต่ LNG ปรับขึ้นมากกว่า ดังนั้นตอนนี้จึงต้องมองในระยะยาวว่า LNG จะปรับลดลงหรือไม่ หากราคาก๊าซ LNG ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงาน กกพ. ก็มีความจำเป็นจะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบ
โดยในช่วง 2 ปีนี้ ยังต้องต้องดูว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนจะยุติหรือไม่ หากยุติแล้วราคาน้ำมันจะปรับตัวลงด้วยหรือไม่ ถ้าลงมาราว 70-80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ในขณะที่ราคาLNG ยังแพงอยู่ ก็สามารถเปลี่ยนมาใช้นำมันได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าราคาน้ำมันคงไม่ลงมาอยู่ในระดับต่ำเหมือนอดีต จะได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น แต่หากทั้งราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแพงทั้งคู่ ก็ต้องมาพิจารณาและเลือกใช้ตัวที่ถูกที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตลาดโลกและสถานการณ์
“ต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มทุกขึ้นทุกปี แม้ว่าไม่มีสงครามราคาก๊าซก็เพิ่มสูงขึ้นอยู่แล้ว เนื่องจากปริมาณก๊าซในอ่าวไทยลดลง ต้องนำเข้าก๊าซเข้ามามากขึ้น แต่เมื่อมีสงครามต้นทุนก็ยิ่งมากขึ้น ทางกกพ. ไม่ได้นิ่งนอนใจพยายามบริหารจัดการ โดยทำโครงสร้างให้สามารถเลือกเชื้อเพลิงให้ราคาถูกที่สุด และเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า และผู้ใช้ก๊าซ” เลขากกพ.กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการเปิดเสรีพลังงาน ที่ผ่านมาทางสำนักงาน กกพ. ได้เดินหน้าเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 ไประดับหนึ่งแล้ว โดย กกพ. พยายามทำให้เกิดความเป็นธรรมกับทั้งรายเก่าและรายใหม่ โดยเสนอวิธีการเกลี่ยเฉลี่ยกันทั้งหมด คาดว่าในอนาคตการเปิดเสรีก็จะใช้แนวทางนี้ไประยะหนึ่ง จากนั้นก็จะศึกษาปรับปรุงนโยบายเพื่อไปสู่การเปิดเสรีก๊าซ ในระยะที่ 3 หรือไม่
“การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันเราอิงก๊าซธรรมชาติ เป็นส่วนใหญ่ จึงต้องดูว่าในอนาคต เรายังจะยังพึ่งพิงก๊าซธรรชาติต่อไปหรือไม่ แต่ขณะเดียวกันในอ่าวไทยมีก๊าซธรรมชาติปริมาณลดลง นั่นหมายถึงเราต้องพึ่งพิง LNG มากขึ้น ก็อาจจะต้องมีการวางแผนบริหารจัดการ ทั้งในระยะสั้นและระยาวควบคู่กันไป เช่น เรื่องถังเก็บ เพียงพอหรือไม่ เพราะจะได้ประโยชน์ในช่วงที่ LNG ราคาต่ำก็จะได้ซื้อเก็บไว้ก่อน อันนี้เป็นการมองภาพกว้างในระยะยาว เพราะการสร้างถังเก็บ 1ถังต้องใช้เวลาถึง 3 ปี แต่ทั้งนี้คุณภาพ LNG กับก๊าซในอ่าว ไม่เหมือนกัน การผสมก็ได้คุณภาพแค่ระดับหนึ่ง ดังนั้นจะต้องมีการปรับคุณภาพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ใช้ก๊าซ ก๊าซในอ่าวขาด จึงต้องนำเข้า LNG การเปิดเสรีก๊าซ ระยะที่2 ส่วนใหญ่ผู้เล่นจัดหา LNG ให้กับโรงไฟฟ้าตนเองหรือใช้ในภาคอุตสาหกรรม หรือ กิจการของตนเอง ถ้ารายที่ดิวไว้ก่อน ทำสัญญาระยะยาว ตั้งแต่ช่วงที่ราคายังไม่สูง ก็ถือว่าได้เปรียบมาก เนื่องจากช่วงนี้น้ำมันแพงก๊าซก็แพง” เลขาฯกกพ.กล่าว .-สำนักข่าวไทย