กรุงเทพฯ 21 ม.ค.- ศบศ. ไฟเขียวท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อ.หัวหิน-ชะอำ เดินหน้ามาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติมีศักยภาพ เข้าลงทุนในประเทศสั่งทุกหน่วยงานร่วมแก้ปัญหาค่าครองชีพแพง
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 1/2565 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล หลังพบว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจากตลาดแรงงาน ยังเปราะบาง ไม่เพียงพอต่อความต้องการฟื้นเศรษฐกิจในประเทศ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสินค้า หมวดพลังงานและอาหารสด เนื่องจากปริมาณออกสู่ตลาดน้อย
ยอมรับว่าผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าแพง จึงสั่งการทุกหน่วยงาน ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบราคาสินค้าในทุกพื้นที่ ทุกจังหวัด เพื่อให้ร้านค้าในราคาเหมาะสม ยอมรับ สินค้าบางรายการ มีจำนวนลดลง นายกรัฐมนตรี ย้ำต้องดูแลทั้งการกักตุนสินค้า หากกระทำผิดต้องลงโทษตามกฎหมาย และขอให้ภาคธุรกิจเอกชนให้ช่วยดูแล รวมถึงปัญหาราคาพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ LPG อาจมีความเสี่ยงในระยะต่อไป จึงเตรียมศึกษามาตรการแก้ไขตามปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง
ที่ประชุมยังเตรียมพิจารณาเห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Thailand Wellness sandbox ในพื้นที่อ.หัวหิน อ.ชะอำ เชื่อมโยงจากพื้นที่นำร่องในการเปิดประเทศสู่หัวหิน -ชะอำ มุ่งเป้าหมายนักท่องเที่ยวจากอาเซียน ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา แคนาดา เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ โดยการปรับภาพลักษณ์หัวหินและชะอำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ของประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกควบคู่กับพัฒนาการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกภายใต้โครงการ Thailand Riviera ให้บริการด้วยมาตรฐานระดับสากล ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นไทย มอบหมายให้ ททท. คัดเลือกพื้นที่นำร่องในภูมิภาคอื่น ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อจัดทำแผนในระยะต่อไป
ที่ประชุม ยังเร่งรัด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศ ด้วยการ จัดตั้งศูนย์การตรวจลงตา วีซ่า สำหรับผู้ทำนักระยะยาวหรือ LTR Service center และติดตามความคืบหน้า มาตรการดึงดูดการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ ด้วยการยกเว้นภาษีลงทุนให้กับกลุ่มสตาร์ทอัพ โดยกรมสรรพากร เตรียมเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกกฎหมาย ภายในไตรมาสแรกของปี 65 มีผลบังคับใช้ 10 ปี เนื่องจากกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ต้องการใช้เทคโนโลยี ทำให้เกิดรายได้ร้อยละ 80 ของกิจการ เพื่อลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่รัฐกำหนด และผ่านรับรองโดย สวทช.หรือหน่วยงานที่กรมสรรพากรกำหนด พร้อมให้สิทธิ์นักลงทุนโดยตรง หรือลงทุนผ่านการร่วมลงทุน ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลทั้งไทยและต่างประเทศต้องถือหุ้นขั้นต่ำ 24 เดือน หากเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุนในไทยต้องจดแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และกำชับดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการคลาวด์เซอร์วิส ให้มีความคืบหน้า.-สำนักข่าวไทย