กรุงเทพฯ 19 ม.ค. – ก.พลังงาน เตรียมคุย ก.คลัง ลดภาษีดีเซล หลังกองทุนน้ำมันฯ อุ้มไม่ไหว ราคาน้ำมันโลก-บี100-ก๊าซหุงต้ม ขึ้นยกแผง ยอดใช้สูงเกินคาด ด้าน สอบ. จี้หยุดใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุ้มดีเซล ควรลดภาษีน้ำมันโดยเร็ว
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยอมรับว่าในขณะนี้ราคาสูงเกินคาดการณ์ ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 ปัญหาความไม่สงบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัญหายูเครน และล่าสุดตุรกีระงับการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งที่เชื่อมต่อระหว่างตุรกีและอิรัก จากเหตุระเบิดที่ระบบการขนส่ง ยิ่งทำให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเข้าอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อดูแลราคาดีเซลในไทยไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มากกว่าคาดการณ์เดิม และกองทุนฯ ต้องดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) อุดหนุนที่ 318 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. ไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ล่าสุดกองทุนติดลบแล้ว 8,700 ล้านบาท เรียกได้ว่ากองทุนฯ แบกรับภาระไม่ไหว ก.พลังงาน จึงเริ่มหารือกับ ก.คลัง อีกรอบ เพื่อขอพิจารณาลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยก่อนหน้านี้เคยเสนอลดภาษี 1-2 บาท/ลิตร แต่ ก.คลัง ได้ปฏิเสธการลดภาษี
“ราคาน้ำมันสูงเกินคาดการณ์ กองทุนน้ำมันฯ แบกรับภาระไม่ไหว โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เคยมีมติให้เจรจากับ ก.คลัง หากเกิดปัญหาราคาแพงเกินคาด ซึ่งในขณะนี้มีความจำเป็น เพื่อร่วมลดภาระประชาชนร่วมกัน” ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าว
ทั้งนี้ ก.พลังงาน ประเมินราคาน้ำมันดิบดูไบไม่เกิน 87.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีที่จะดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะนี้ราคาก็ใกล้เคียงแล้ว แต่มีปัญหาอื่นเข้ามา ทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินคาดการณ์ ราคาไบโอดีเซล บี 100 ที่ทะลุ 60 บาท/ลิตร และการใช้ดีเซลของไทยที่มีปริมาณสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเดือนธันวาคม 2564 แตะ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน อยู่ที่ 52.8 และ 65.2 ล้านลิตร/วัน ล่าสุดวันที่ 19 มกราคม 2565 ราคาดีเซลในเขต กทม.-ปริมณฑล อยู่ที่ 29.84 บาท/ลิตร โดยกองทุนน้ำมันอุดหนุน 2.49 บาท/ลิตร และภาษีสรรพสามิตจัดเก็บที่ 5.99 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด 16 มกราคม 2565 ติดลบ 8,782 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 15,340 ล้านบาท และเงินบัญชีแอลพีจีติดลบ 24,122 ล้านบาท โดยจากผลกระทบต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไหลออกต่อเดือนกว่า 4,600 ล้านบาท
ในขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยในเวทีการสัมมนา “ราคาน้ำมันพุ่ง ก๊าซหุงต้มแพง วิกฤติมหากาพย์ผู้บริโภค” ระบุว่าราคาน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยายามตรึงราคาด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกิน 8,700 ล้านบาท และเตรียมต้องกู้เงินมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาท มาจัดการหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น จึงเสนอแนวทางดำเนินการไปยังรัฐบาล ได้แก่ 1.ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและแอลพีจีที่ผลิตในประเทศ แต่ไปอิงราคาตลาดโลก ซ้ำยังบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนเทียม เสมือนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศไปเสียทั้งหมด และ 2.ปรับลดภาษีน้ำมันให้เป็นธรรมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชน และราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย