กรุงเทพฯ 17 ม.ค. – คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถอาคารผู้โดยสาร สุวรรณภูมิฯ เร่งรัด ทอท. จ้าง ICAO ศึกษาขยายพื้นที่ หลังผลศึกษาชี้ผู้โดยสารเดินทางผ่านสุวรรณภูมิ จะกลับมา 65 ล้านคนหรือเทียบเท่าก่อนโควิดระบาด ในปี 67-68
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ครั้งที่ 1/2565 (ครั้งที่ 3) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานกรรมการ และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นกรรมการและเลขานุการ
นายศักดิ์สยามฯ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ ได้ดำเนินตามนโยบาย ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ ทอท. เร่งดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งมีความพร้อม และเร่งทบทวนแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาในลักษณะ Revisit ซึ่งที่ประชุมฯ ได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานของ ทอท. 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานจ้าง ICAO เพื่อศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อจ้าง ICAO ซึ่งขณะนี้ ทอท. อยู่ระหว่างการประสานกับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาร่างข้อตกลง (Agreement) เพื่อให้ ICAO ดำเนินการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนมกราคม 2565 และแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 ทั้งนี้ ทอท. ได้หารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อให้การดำเนินงานของ ทอท. เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
2) ผลการศึกษาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย IATA ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาที่แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2564 สรุปว่า การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะฟื้นกลับมาในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีผู้โดยสารปีละประมาณ 65 ล้านคน ในช่วงปี 2567 – 2568
ทั้งนี้ IATA ได้ประเมินทางเลือกในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อรักษาระดับการให้บริการ (Level of Service : LoS) ของสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตทั้งหมดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimum) โดยเสนอให้พัฒนาส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) เพื่อให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศและผู้โดยสารระหว่างประเทศ (Mixed Concept)
3) ความก้าวหน้าการดำเนินงานเพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ที่ประชุมรับทราบการส่งมอบพื้นที่ของ บริษัท คิง พาวเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ซึ่งได้ส่งมอบพื้นที่บริเวณชั้น 2 Food Stop ที่เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ให้ ทอท. เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 และคณะกรรมการ ทอท. ในการประชุมได้มีมติอนุมัติงบลงทุนผูกพันเพิ่มเติมสำหรับการลงทุนก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ด้วยแล้ว เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออกได้รับอนุมัติจาก ครม. ไว้แล้ว
ดังนั้น คาดว่าจะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างปรับแบบในเดือนกรกฎาคม 2565 และเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ใช้ระยะเวลา 29 เดือน แล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ประมาณเดือนมีนาคม 2568
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ย้ำในที่ประชุมให้ ทอท. เร่งรัดการดำเนินการจ้าง ICAO ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้มีข้อมูลมาประกอบการพิจารณาร่วมกับผลการศึกษาของ IATA เพื่อพิจารณาแนวทางการทางการเพิ่มขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงเห็นชอบให้ ทอท. ดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) ซึ่งมีความพร้อมและ ครม. อนุมัติโครงการไว้แล้ว ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน (Action Plan) ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีความพร้อมรองรับผู้โดยสารที่คาดว่าจะกลับมาในระดับประมาณ 65 ล้านคนต่อปี เท่ากับช่วงก่อนเกิดโรคโควิด 19 ได้ในปี 2568
รวมทั้งให้ ทอท. ประสานสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในการเตรียมพร้อมรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ IATA คาดการณ์ไว้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางอันดับ 9 ของโลก โดยจะมีผู้โดยสารเข้ามาในไทยถึง 200 ล้านคน รวมถึงให้ศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการขนส่งทางอากาศในกรณีที่มีการพัฒนารถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงด้วย .-สำนักข่าวไทย