กรุงเทพฯ 13 ม.ค.-ศูนย์วิจัย ธ.กรุงไทย แนะธุรกิจเกษตรและอาหารของไทย ปรับตัวรองรับกฎระเบียบทางการค้าใหม่ Net Zero Emission ลดก๊าซเรือนกระจก คาดสินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ ต้องลงทุนเพิ่ม 7 แสนล้านบาท ในช่วงปี 2020-2050
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า COVID-19 กลายเป็นตัวเร่ง สร้างแรงกระเพื่อมให้ทั่วโลก หันกลับมาให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ เน้นความยั่งยืน (sustainability) ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทำให้ภาคเกษตรและอาหาร ต้นตอสำคัญของก๊าซเรือนกระจกต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทย ยังไม่พร้อมรับมือเทรนด์นี้ จึงเข้าร่วมโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกค่อนข้างน้อย ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs ถึง 94% จึงมีข้อจำกัดในการปรับตัว
นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ในระยะข้างหน้ามาตรการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มข้น ทั้งมาตรการส่งผลเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเกษตรและอาหารโดยตรง เช่น นโยบายฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) การบังคับใช้ฉลากรักษ์โลกในอุตสาหกรรมอาหาร (Eco-labeling) และมาตรการ ขยายวงมาสู่ธุรกิจเกษตรและอาหาร เช่น มาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) และกฎหมายเก็บภาษีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Tax) จึงเป็นอุปสรรคทางการค้าต่อผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ และอาหารสัตว์ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาตลาดสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยังทั้งสองตลาดรวมกันสูงถึง 7 หมื่นล้านบาทต่อปี
นางสาวพิมฉัตร เอกฉันท์ นักวิเคราะห์ กล่าวเสริมว่า ไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในธุรกิจเกษตรและอาหารอีกอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทในช่วงปี 2020-2050 หรือเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจอาหารทำจากพืช (Plant-based food) การลงทุนระบบการจัดการปศุสัตว์ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการ SMEs ของไทยต้องตื่นรับกระแส Net Zero Emission ไม่ใช่เป็นเพียง “ทางเลือก” แต่จะเป็นเหมือน “ทางรอด” ในยุคที่ BCG Economy กำลังมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจและสังคมโลกมากขึ้นทุกขณะ.-สำนักข่าวไทย