กรุงเทพฯ 11 ม.ค.- ส.อ.ท.ร่วมกับ คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ และ บจก. ครีเดน เอเชีย พัฒนาฐานข้อมูล BIG DATA เพื่อช่วยส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ และเร่งเครื่องภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ปี 2565 เตรียมร่วมกันพัฒนาดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย “CCC – Cash Conversion Cycle”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการ ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อร่วมกันดำเนินงานด้านงานวิจัยและพัฒนา การเผยแพร่ข้อมูล และการจัดทำโครงการฝึกอบรมต่างๆ นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังร่วมมือกับ บจก. ครีเดน เอเชีย ในการพัฒนาฐานข้อมูลผู้ประกอบการและสมาชิก ส.อ.ท. รวมทั้ง พัฒนาระบบบริการด้านข้อมูล หรือ Data service อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันข้อมูล BIG DATA ได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้หน่วยงานหรือองค์การทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างพยายามที่จะปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์ในการบริหารองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้า การคาดการณ์แนวโน้มของธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน การพัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เป็นต้น
ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาในปี 2563–2564 ทางคณะฯ ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำเรื่อง BIG DATA ของภาคธุรกิจ โดยนำความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ที่มีอยู่มาร่วมมือกันในการจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย “CCC – Cash Conversion Cycle” ซึ่งมีการจัดทำดัชนีขึ้นมาแล้ว 2 ปี ติดต่อกัน ปี 2562 – 2563 เพื่อเป็นเครื่องมือในการติดตามวงจรการเงินของธุรกิจบริษัทที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยมีองค์ประกอบข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ ดังนี้ 1) ระยะเวลาเก็บเงินลูกค้า 2) การบริหารสินค้าคงคลัง 3) ระยะเวลาจ่ายเงินเจ้าหนี้ ภายใต้ฐานข้อมูลของบริษัทในประเทศไทยเกือบ 500,000 แห่ง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ โดยปี 2565 นี้ จะมีการขยายความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและต่อยอดการจัดทำดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย “CCC – Cash Conversion Cycle” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3
สำหรับผลดัชนีชี้วัดวงจรเงินสดของธุรกิจประเทศไทย “CCC – Cash Conversion Cycle” ล่าสุดในปี 2563 พบว่า ผู้ประกอบการในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ยที่ 26.1 วัน ซึ่งสูงกว่าในปี 2562 ที่มีค่าเฉลี่ย 14.8 วัน แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการทั่วประเทศ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดการขาดสภาพคล่องของกิจการ .– สำนักข่าวไทย