คาดปี 65 ไทยผลิตกุ้งได้3 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 4 %

กรุงเทพฯ 13 ธ.ค. – สมาคมกุ้งไทยเผย ปีนี้ไทยผลิตกุ้งได้ 2.8 แสนตัน เพิ่มจากปีที่แล้วเล็กน้อย ส่วนปี 65 จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ร้อยละ 4 พร้อมระบุแนวทางสร้างความอยู่รอดอย่างยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมกุ้ง ด้วยการที่รัฐมีแผนส่งเสริมสนับสนุนชัดเจน เร่งแก้ปัญหาโรคได้เบ็ดเสร็จ พัฒนาใช้เทคโนโลยีเลี้ยง เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสร้างแบรนด์กุ้งไทยให้ไทยเป็นแหล่งผลิตกุ้งที่ดีที่สุดของโลก 


นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทยปี 2564 ผ่านทางการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2564 โดยรวมอยู่ที่  280,000  ตัน ส่วนปี 2563 อยู่ที่  270,000 ตัน จึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยคาดว่า ปี 2565 จะผลิตได้  300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่า จะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 

สำหรับผลผลิตกุ้งของไทยปีนี้ เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง ร้อยละ 33 จากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ  32  จากภาคตะวันออก ร้อยละ 24  และ จากภาคกลาง ร้อยละ 11 ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้ ปริมาณ 128,758  ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297  ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า ที่ร้อยละ 4 และ ร้อยละ 9  ตามลำดับ แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆ  


นายปกครอง  เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทยและที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่กล่าวว่า ผลผลิตกุ้งเสียหายจากโรคตัวแดงดวงขาว โดยเฉพาะที่จ.นครศรีธรรมราช จ.สงขลาพบเชื้ออีเอชพีและโรคขี้ขาว เป็นปัญหาสำคัญต่อการเลี้ยงของเกษตรกรตลอดปี ช่วงครึ่งปีหลัง พบการเสียหายจากโรคดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรลดความหนาแน่นในการเลี้ยงและทยอยการปล่อยกุ้ง เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และดูสถานการณ์ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้พักบ่อ ทำความสะอาดบ่อ และจัดการระบบการเลี้ยงภายในฟาร์ม เพื่อเตรียมปล่อยกุ้งใหม่ในช่วงต้นปี 65

นางสาวพัชรินทร์   จินดาพรรณ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทยและกรรมการบริหารสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิดส่งผลให้แรงงานขาดแคลน เกษตรกรชะลอการเลี้ยงในช่วงต้นปีเนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต และต้นทุนแฝงจากการเสียหายจากโรคส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต 

นายบรรจง  นิสภวาณิชย์  อุปนายกสมาคมกุ้งไทย ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และผู้ทรงคุณวุฒิ-ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติกล่าวว่า จากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ ในด้านการผลิตกุ้ง เพราะมีปัจจัยที่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ เรื่องพันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 ซึ่งเกิดจากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง จึงต้องหันมาร่วมมือกันทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง  บริษัทอาหาร ปัจจัยการผลิต ผู้ส่งออก และภาครัฐให้ “กุ้งไทย” กลับมาสู้กับตลาดโลก เพื่อเป็นผู้ผลิตอันดับต้นๆ ของโลกอีกครั้ง ในนามแหล่งผลิตกุ้งที่ดีที่สุดในโลก “The Best of the best Shrimp in the World” 


นายสมชาย   ฤกษ์โภคี นายกสมาคมกุ้งทะเลไทย และเลขาธิการสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยถึง การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทยว่า ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อให้อุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปอย่างยั่งยืน โดยผู้เพาะฟักลูกกุ้งต้องผลิตลูกกุ้งคุณภาพดีให้กับผู้เลี้ยง  ผู้เลี้ยงต้องผลิตกุ้งให้ได้คุณภาพ ปริมาณที่เพียงพอ  ผู้ผลิตอาหารต้องผลิตอาหารที่ดี มีต้นทุนที่เหมาะสม ห้องเย็นต้องผลิตแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้ากุ้งให้ได้มาตรฐานที่ยอมรับ นอกจากนี้ ภาครัฐจะต้องมีส่วนในการส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรม 

นายเอกพจน์  ยอดพินิจ  อุปนายกสมาคมกุ้งไทยกล่าวถึง การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้งซึ่งต้อมี “7 แนวทาง – 1 ความร่วมมือ-รัฐปรับบทบาท” ได้แก่ 

1) ต้องกำหนดเป้าหมายการผลิตกุ้งในประเทศที่ชัดเจน 

2) มีรูปแบบแนวทางการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรทุกกลุ่ม 

3) ปัญหาโรคระบาดได้รับการแก้ไขป้องกันได้เบ็ดเสร็จ 

4) เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน-ภาครัฐและสถาบันการเงิน สนับสนุนดอกเบี้ยพิเศษสำหรับเกษตรกร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับเกษตรกร มีเงินทุนในการปรับโครงสร้างฟาร์ม และโมเดลการเลี้ยงที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

5) สร้างช่องทางการขายและความได้เปรียบในการแข่งขันและการประชาสัมพันธ์เชิงรุก รวมถึงการเจรจา FTA 

6)สร้างระบบมาตรฐานการผลิตตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรม 

7) นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 

ส่วน 1 ความร่วมมือนั้นเกษตรกรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ด้านการเลี้ยง สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้น และที่สำคัญ ภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลง/ปรับบทบาท (Transform) จากการสนับสนุนและบริการซึ่งทำดีมาก และต้องทำต่อไป มาร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูอุตสาหกรรมอย่างจริงจังมากขึ้น 

ทั้งนี้ 30 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนพยายามอย่างเต็มที่ในการนำพา/พัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศ เพื่ออุตสาหกรรมที่มีมูลค่ากว่าแสนล้าน ถึงวันนี้ภาครัฐต้องมีส่วนในความรับผิดชอบในการพัฒนาฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยด้วย.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

คลอดลูกแฝดตกตึก

หญิงวัย 31 เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น รพ.ดัง เสียชีวิต

สลด! หญิงวัย 31 ปี เพิ่งคลอดลูกแฝด พลัดตกตึก 18 ชั้น โรงพยาบาลดัง เสียชีวิต ด้านโรงพยาบาลแถลงแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมทบทวนมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุแบบนี้ขึ้นอีก

ทหารควง M16 ยิงเพื่อนตำรวจดับคาบ้านพัก

ทหารพรานควง M16 บุกยิงเพื่อนตำรวจเสียชีวิตภายในบ้านพัก ก่อนขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านผู้ตาย เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี เบื้องต้นคนก่อเหตุให้การวกวน เนื่องจากอยู่ในอาการหลอน

ลูกน้องปืนโหดรัวยิงหัวหน้างานดับคา สนง.ปฏิรูปที่ดินฯ

ลูกน้องชักปืนกระหน่ำยิงหัวหน้างานดับกลางห้องทำงาน สำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.น่าน ก่อนลั่นไกยิงตัวเอง ปมเหตุขัดแย้งเรื่องงาน

จนท.ปะทะเดือด! เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ

ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง นำกำลังปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เกิดการปะทะ เสียงปืนสงบพบศพคนร้าย 4 ศพ ยึดอาวุธสงคราม 3 กระบอก

ข่าวแนะนำ

กกต.ขอบคุณ ปชช.ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ.

เลขาธิการ กกต. แถลงสถานการณ์หลังปิดหีบบัตรเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ ขอบคุณประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ พร้อมชี้แจงกรณีบัตรเลือกตั้งหายที่จังหวัดบึงกาฬ

นายกฯ วิดีโอคอลให้กำลังใจ 5 คนไทยที่อิสราเอล

นายกรัฐมนตรี วิดีโอคอลให้กำลังใจ 5 คนไทยที่อิสราเอล ดีใจทุกคนสุขภาพแข็งแรงดี อยากให้ตรวจเช็กให้เรียบร้อยก่อนกลับไทย ยืนยันรัฐบาลดูแลสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่