นนบทุรี 12 พ.ย.-อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาย้ำขณะนี้ ‘ร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์’ ได้เข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว ระบุการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มช่องทางให้แก่เจ้าของสิทธิสามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดเผยความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 แล้วเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยที่ประชุมฯ มีมติเอกฉันท์ 280 เสียง เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ดังกล่าว พร้อมส่งเรื่องเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์นี้
อย่างไรก็ตาม การพัฒนากฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่จะเร่งผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาขอขอบคุณสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เล็งเห็นความสำคัญและร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปด้วยดี
ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มช่องทางให้แก่เจ้าของสิทธิให้สามารถระงับการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตได้อย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล และเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีด้วยการกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับผู้ให้บริการ ผู้ผลิต และผู้ขายอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีดังกล่าว ตลอดจนขยายอายุความคุ้มครองงานภาพถ่ายไปตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์และคุ้มครองต่อไปอีก 50 ปีหลังจากผู้สร้างสรรค์เสียชีวิต เพื่อรองรับการเข้าเป็นภาคีความตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ซึ่งศิลปินไทยผู้สร้างสรรค์จะได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว ต่อจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสำหรับการเสนอและชี้แจงร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ต่อวุฒิสภา ในแต่ละวาระต่อไป
“กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะนำข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และความเห็นที่ได้รับจากสภาผู้แทนราษฎรมาพิจารณาเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความเหมาะสม และสามารถบังคับใช้ได้อย่างประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต” นายวุฒิไกร กล่าว.-สำนักข่าวไทย