กรุงเทพฯ2 พ.ย. – ธปท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกเดือน ต.ค.64 ดีขึ้น หลังรัฐขยายเวลาเปิดให้บริการของธุรกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจยังทรงตัว แต่ภาคการผลิตและการค้าสัญญาณดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี เรื่องผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนตุลาคม 2564 ทำการสำรวจระหว่างวันที่หนึ่งถึง 25 ตุลาคม 2564
โดยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนตุลาคม 2564 พบว่า ในเดือนตุลาคม 2564 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมทรงตัวจากเดือนก่อน แต่เห็นสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยในภาคการผลิตและการค้า จากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดได้ดีขึ้น และการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมฯ
ขณะที่กำลังซื้อที่อ่อนแอยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับช่วงก่อนโควิดและผู้ประกอบการกังวลด้านกำลังซื้อเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ โดยผู้ตอบในภาคที่มิใช่การผลิตแสดงความกังวลมากกว่าภาคการผลิตอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งจากการที่ต้องพึ่งพิงกำลังซื้อในประเทศเป็นหลักและเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่วนจำนวนและรายได้แรงงาน ยังทรงตัวในภาคการผลิต ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานในภาคที่มิใช่การผลิตปรับลดลงบ้าง
สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนตุลาคม 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับดีขึ้นต่อเนื่องทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้า หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะการขยายเวลาเปิดให้บริการของธุรกิจ ในระยะต่อไปผู้ประกอบการเร่งทำโปรโมชั่นเพิ่มขึ้น เพื่อหวังกระตุ้นยอดขายในช่วงส่งท้ายปี
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า กำลังซื้อปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน หลังผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมีนโยบายเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ เห็นได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่รอโปรโมชั่นพิเศษจากร้านค้าและ platform ต่าง ๆ มากขึ้น และ Pent-up Demand มีค่อนข้างจำกัด.-สำนักข่าวไทย