กรุงเทพฯ 1 พ.ย.- “การบินไทย” เผยฟื้นฟูกิจการได้ตามแผนฯ ปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 4.4 หมื่นล้าน/ปี พร้อมปรับโครงสร้างหนี้ ลดภาระเช่าซื้อเครื่องบิน แจงเพิ่มทุนอีกเพียง 2.5 หมื่นล้าน ธุรกิจเดินต่อได้
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แถลงความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยว่า ในภาพรวมระยะเวลากว่า 1 ปี บริษัทฯ มีความคืบหน้าในการฟื้นฟูกิจการตามแผนฯ มีการปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย ปรับโครงสร้างและขนาดองค์กร และเพิ่มการหารายได้ ซึ่งจากการระดมสมองของพนักงานทุกระดับกว่า 400 โครงการ ส่งผลให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้เป็นมูลค่า 44,800 ล้านบาท/ปี โดยเป็นการปรับลดต้นทุนการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท การปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท การปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้รับความร่วมมือจากพนักงาน ในการสมัครใจเข้าร่วมโครงการต่างๆ เพื่อปรับโครงสร้าง ลดขนาดองค์กร และปรับเปลี่ยนสภาพการจ้าง เช่น ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน รวมถึงโครงการร่วมใจจากองค์กร ซึ่งมีพนักงานที่เสียสละเข้าร่วมโครงการรวมกว่า 6,000 คน ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน จากจำนวน 29,500 คน ในปี 2562 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาท เหลือกว่า 600 ล้านบาท/เดือน
ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ ขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือร้อยละ 1.5 ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟู
โดยบริษัทฯ มีแผนปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงสูงเพื่อจำหน่าย จำนวน 42 ลำ ยกเลิกสัญญาเช่าและเช่าซื้อ จำนวน 16 ลำ จะทำให้บริษัทฯ มีฝูงบินลดลงจาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ คงเหลือรวม 58 ลำ โดยรวมถึงฝูงบิน A320 ซึ่งสายการบินไทยสมายล์ เช่าดำเนินการ 20 ลำ ซึ่งฝูงบินปัจจุบันมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ มีประสิทธิภาพการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงสูง เป็นผลให้บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารฝูงบินและค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงได้ถึงปีละ 12,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุด นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 เมื่อเดือนเมษายน 2563 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือนเมษายน 2563 – ตุลาคม 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท มีรายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบิน เป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาท และมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ
จากความมุ่งมั่นในการหารายได้และการหาประโยชน์จากทรัพย์สินรองที่ไม่ได้ใช้งาน บริษัทฯ ขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 3,973 ล้านบาท เมื่อรวมรายการครั้งเดียวทางบัญชี ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 11,121 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นเงิน 39,151 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ยังมีกระแสเงินสดสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างเพียงพอ
ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ ยังระบุถึงความจำเป็นในการระดมทุนเพิ่ม เพื่อให้บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามแผนฟื้นฟูฯ เดิม คือ การระดมเงินอีก 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินจากภาคเอกชน 25,000 ล้านบาท และภาครัฐอีก 25,000 ล้านบาท แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน เงินจากภาคเอกชนเพียง 25,000 ล้านบาท ก็เพียงพอให้การบินไทยเดินหน้าธุรกิจต่อได้ แต่หากได้เงินจากภาครัฐอีก 25,000 ล้านบาท มาเพิ่ม จะทำให้สถานะทางธุรกิจมีความแข็งแกร่ง ราบรื่น และสามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นได้อีกครั้ง ซึ่งรัฐจะต้องไปพิจารณาว่า หากไม่เพิ่มทุนจะเป็นการเสียโอกาสหรือไม่ เนื่องจากเอกชนจะสามารถซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาเพียงหุ้นละ 2.54 บาท จากราคาพาร์ 10 บาท ขณะที่หากสถานการณ์โควิดผ่านพ้น โอกาสทางธุรกิจของการบินไทย ถือว่าสดใส อย่างไรก็ตาม หากรัฐตัดสินใจใส่เงินเพิ่มทุน ก็จะไม่เพิ่มสัดส่วนผู้ถือหุ้นเกิน 40% และไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีกแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย