กรุงเทพฯ 28 ต.ค.- ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทยช่วงไตรมาส 3 ปีนี้เริ่มดีขึ้นแตะ 41.7 รับเปิดประเทศ คลายล็อกเชื่อเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ขณะที่นักธุรกิจต่างชาติเชื่อมั่นพร้อมเดินหน้าลงทุนไทยที่เหลือปีนี้อยู่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างชาติในไทย ไตรมาสที่ 3/2564 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.7 หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกดาวน์และเตรียมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจต่างชาติดีขึ้น แต่ที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการคือการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ดีขึ้น เดินหน้าแผนฉีดวัคซีนให้ได้อย่างต่อเนื่อง แก้ไขกฎระเบียบการส่งเสริมการลงทุนที่มีความซับซ้อนเพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ช่วงไตรมาสที่ 3 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.9 และดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 38.4 ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ในช่วงเดือนสิงหาคม และหลังจากมีการประกาศคลายล็อกเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้มุมมองของนักธุรกิจต่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายสแตนลี่ย์ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า การเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับคนต่างชาติในประเทศไทยเวลานี้ทำได้ประมาณร้อยละ 80-90 ทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในด้านการลงทุน และเห็นว่าการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ประมาณ 1 ปีครึ่ง รัฐบาลไทยมีการปรับตัวและเดินหน้าในการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ นักธุรกิจต่างประเทศมองว่าหลังจากนี้ รัฐบาลไทยจะต้องบริหารจัดการให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และต้องควบคุมการระบาดของโควิด-19 ให้ได้ รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนในการเข้าประเทศได้ง่ายขึ้น โดยนักธุรกิจต่างประเทศในไทยพร้อมเดินหน้าโครงการต่างๆ อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้และตลอดช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จากที่ต้องชะลอโครงการต่างๆ ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและการจัดการวัคซีนที่ไม่เป็นไปตามแผนก่อนหน้านี้เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย