กรุงเทพฯ 25 ต.ค.- TDRI แนะ กทม.-รัฐ เปิดเจรจารอบใหม่ สางปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว และใช้เวลาก่อนหมดสัมปทานปี 2572 ปรับโครงสร้างค่าโดยสารทั้งระบบ ขณะที่เผยยอดภาระที่ กทม.ต้องจ่ายค่ารับโอนส่วนต่อขยายสายสีเขียวจาก รฟม. ณ สิ้นเดือน ก.ย. ทะลุกว่า 65,000 ล้านบาท
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยถึงปัญหาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายหลังกระทรวงมหาดไทย ได้ขอถอนวาระการพิจารณาต่ออายุสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ออกจากการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยระบุหากพิจารณาอายุสัมปทานที่เหลือในขณะนี้ ในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่จะหมดในปี 2572 และสัญญาว่าจ้างเดินรถ ที่จะหมดในปี 2585 ขณะนี้ก็ถือว่ายังมีเวลาในการดำเนินการเจรจาหาทางออก
ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องนี้ กทม. ซึ่งเห็นว่ามีทางออกเพียงทางเดียว คือ การดำเนินการเจรจาต่อสัมปทาน และไม่สามารถตอบประเด็นคำถามที่กระทรวงคมนาคม ตั้งประเด็นไว้ใน 4 ข้อได้ รวมทั้ง กทม.ยอมรับว่า ไม่มีเงินที่จะไปชำระภาระทางการเงินที่ กทม.รับโอนโครงสร้างส่วนต่อขยาย จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งทำให้แนวทางแก้ปัญหาชะงักไป ในส่วนนี้เห็นว่า ท้ายที่สุดต้องดำเนินการเปิดโต๊ะเจรจา ระหว่าง กทม. และรัฐบาล ซึ่งต้องไปดูว่า จะต้องมีการรื้อ MOU ที่เคยลงนามไว้ ระหว่าง กทม. และ รฟม. หรือไม่
อีกส่วนหนึ่ง ทีดีอาร์ไอ เห็นว่า ควรใช้โอกาสนี้เร่งแก้ปัญหาโครงสร้างราคาค่ารถไฟฟ้าทั้งระบบ ให้จบก่อนสัญญาสัมปทานจะหมดลง ที่ผ่านมา กทม.เคยวางแนวคิดจะมีการแยกเก็บค่าโดยสาร ออกเป็น 3 โครงการ ซึ่งก็พบแล้วว่า ทำให้ราคาค่าโดยสารแพงขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะส่งผลไม่จูงใจให้คนมาใช้บริการระบบ
“ยกตัวอย่าง อัตราที่ระบุมาว่า จากสถานีสะพานใหม่ ไปสมุทรปราการ จัดเก็บค่าโดยสาร 104 บาท โดยอ้างว่า มีประชาชนนั่งรถไฟฟ้าในระยะยาว ตั้งแต่ต้นถึงปลายทางน้อยมาก เมื่อเห็นว่ามีคนใช้น้อย แต่กลับไปคิดค่าโดยสารแพงอีก ก็ยิ่งไม่มีคนใช้ ทำไมไม่ทำให้ราคาถูก และมีคนเข้ามาใช้บริการมากขึ้น” นายสุเมธ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับภาระทางการเงินที่ กทม.ต้องดำเนินการ ตามที่ได้มีการรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย (ยอดเงินถึง 30 ก.ย.64) ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ประกอบด้วย หนี้เงินกู้ค่าก่อสร้างงานโยธา (กู้จากกระทรวงการคลัง) วงเงิน 37,124,475,428 บาท เงินงบประมาณ (ใช้ดำเนินการเวนคืนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน) วงเงิน 7,216,333,199 บาท 2) ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ประกอบด้วย หนี้เงินกู้ฯ วงเงิน 19,824,304,936 บาท และเงินงบประมาณอีก วงเงิน 1,142,856,152 บาท. – สำนักข่าวไทย