กรุงเทพฯ 21 ก.ย. – บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) ส่งมอบงานโครงการ Solar Rooftop บนหลังคาโรงงานของบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กำลังผลิตไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์ หนุนเป้าขยายการธุรกิจ Solar Rooftop ครบ 300 เมกะวัตต์ ตามแผนปี 2566
นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า WHAUP และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอเอที) ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตรถยนต์และประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ของฟอร์ดและมาสด้า ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง) ได้ร่วมกันเปิดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ขนาด 5 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคาโรงงานกว่า 45,000 ตารางเมตร อย่างเป็นทางการ
โครงการดังกล่าว บริษัท ดับบลิวเอชเอ โซลาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ WHAUP เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และดูแลระบบ Solar Rooftop โดยมีการพัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Studies) งานวิศวกรรมออกแบบ จัดซื้อจัดจ้าง และก่อสร้าง (Engineering, Procurement and Construction) งานขออนุญาตต่างๆ (Permitting) รวมถึงงานดูแลรักษาระบบ (O&M) ให้กับลูกค้าเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งถือเป็นการให้บริการรับเหมาก่อสร้างและจัดการระบบแบบเบ็ดเสร็จ ให้กับเอเอที
ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถเปิดดำเนินการในปัจจุบันแล้วทั้งสิ้น 46 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการ Solar Rooftop รวมทั้งสิ้น 63 เมกะวัตต์ จากเป้าปี 2564 ที่วางไว้ 90 เมกะวัตต์ ดังนั้น บริษัทฯ มั่นใจว่าด้วยศักยภาพในการขยายการให้บริการธุรกิจ Solar Rooftop จะส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทฯ สามารถขยายการติดตั้งได้ครบ 300 เมกะวัตต์ ตามแผนที่วางไว้
นายเคล เคิร์นส (Mr. Kel Kearns) ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (เอเอที) กล่าวว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลส์บนหลังคาโรงงานของเอเอทีในครั้งนี้ ช่วยให้บริษัทฯ สามารถบรรลุเป้าหมายด้านการลดใช้พลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนการผลิตจากการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ตลอดอายุการใช้งาน 25 ปี หรือสามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้พลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละ 31.6 ล้านบาท ส่งผลให้ภายในระยะเวลา 25 ปี เอเอทีจะสามารถลดต้นทุนได้สูงถึง 790 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Offset) ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 92,500 ตัน.-สำนักข่าวไทย