กรุงเทพฯ 15 ก.ย.- ปตท.สผ.หารือ กรมเชื้อเพลิงฯ ปรับแผนผลิตตามสัญญาPSC แหล่งเอราวัณ หลังไร้ความชัดเจนการเข้าพื้นที่ เผยข่าวดี แหล่งโมซัมบิก เตรียมเข้าพื้นที่ได้ ต้นปีหน้า
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ประเมินราคาน้ำมันดิบ-ไตรมาส 4/64 อยู่ที่ประมาณ 65-75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากที่ขณะนี้อยู่ประมาณ 70 เหรียญ/บาร์เรล ปัจจัยสำคัญ คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การคลายล็อกดาวน์ และอยู่ในช่วงฤดูหนาว อย่างไรก็ตาม หากราคา อยู่ประมาณ 60 เหรียญ /บาร์เรล(บวก –ลบ ) และราคามีสเถียรภาพ ก็เป็นเรื่องที่ดี ปตท.สผ.จะได้วางแผนในการผลิตได้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ ได้ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนต่อหน่วยลงเหลือ 25 เหรียญ/บาร์เรล ในปี 9 ปีข้าง หน้าปี 2573 (ค.ส.2030) จากปัจจุบันที่ทำได้ราว 28-29 เหรียญ/บาร์เรล เพื่อทำให้ บริษัทสามารถแข่งขันได้ในตลาดได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่ปีนี้ยอดขายเทียบเท่าน้ำมันดิบ จะอยู่ที่ประมาณ 4.12 แสนบาร์เรล/วัน จาก เป้าหมายเดิม อยู่ที่ประมาณ 4.05แสนบาร์เรล /วัน
“ยอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่าแผน ก็เนื่องจากนโยบายความร่วมมือกับพันธมิตร ในการขยายงาน ในประเทศเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย พื้นที่ตะวันออกกลาง ไทย เมียนมา ประกอบกับ ราคาและความต้องการใช้ปิโตรเลียมฟื้นตัวจากโควิด และการลดต้นทุนของบริษัท ก็ทำให้เกิดผลดีต่อ บริษัท”นายพงศธร
ส่วนแผนลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามทิศทางโลก Carbon neutral นั้น เป็นเรื่องที่ บริษัทเตรียมแผนงานในอนาคต โดยดำเนินการทั้ง นวัตกรรม การดักจับ การใช้และการจัดเก็บคาร์บอน (CCUS) ศึกษาทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ต่อและการนำไปสู่หลุมผลิตปิโตรเลียม ในขณะเดียวกัน ก็วางแผนไปสู่เรื่องพลังงานทดแทนในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี พลังงานทดแทนที่ยังมีต้นทุนสูงและยังไม่เสถียร ดังนั้น ก๊าซธรรมชาติจึงเป็นเชื้อเพลิงหลักในช่วงการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี เนื่องจาก เป็นเชื้อเพลิงสะอาด และต้นทุนเหมาะสม
ส่วนเปลี่ยนผ่านสิทธิการเข้าเป็นผู้ดำเนินการของแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งขณะนี้บริษัทยังไม่ได้รับการยินยอมให้เข้าพื้นที่ อาจทำให้ยอดผลิตหลังเมษายนปีหน้า กำลังผลิตอาจหายไปครึ่งหนึ่ง จากแผนเดิมผลิตก๊าซฯ 800 ล้านลูกบาศก์ ฟุตต่อวัน ทางบริษัท กำลังเจรจากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอปรับแผนจากเดิมที่สัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต( พีเอสซี) มีระยะเวลา 10 ปี ว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันว่า ได้ร่วมกับ บมจ.ปตท.จัดหาก๊าซฯไม่ขาดแคลน ส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มกำลังผลิตจากแหล่งบงกช,แหล่งอาทิตย์และแหล่งเจดีเอ แต่หากไม่เพียงพอก็มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาทดแทน โดยพยายามบริหารจัดการให้กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ต่ำที่สุด
ส่วนการดำเนินการแหล่งบงกช ที่จะเปลี่ยนระบบสัมปทานเป็นพีเอสซี ในปี 2566 นั้น ทุกอย่างจะเป็นไปตามแผนงาน คาดจะลงนามสัญญากับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เร็วๆนี้ และจะเร่งผลิตให้มากกว่าแผนเดิมที่เป้าหมายของภาครัฐจะผลิต 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อชดเชยแหล่งเอราวัณ ซึ่งจะรักษาระดับผลิตในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องที่ประมาณ 800-900 ล้านลูกบาศ์กฟุต/วัน
นายพงศธร กล่าวว่า ต้นปี 2565 จะสามารถเข้าพื้นที่โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ประเทศโมซัมบิก หลังจากที่หยุดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 จากกรณีเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (Mozambique LNG) ประมาณ 20 กิโลเมตร เนื่องจากรัฐบาลมีการดำเนินการในพื้นที่เรียบร้อย มีการประสานงาน ประเทศต่างๆในทวีปอาฟริกาเข้าช่วยเหลือจนเหตุการณ์สงบและมั่นใจจะผลิตแอลเอ็นจีได้ตามแผนงานเดิมใน 3 ปีข้างหน้าหรือปี 2568 โดยโครงการนี้ประกอบด้วย 2 สายการผลิต (train) มีกำลังการผลิตรวม 13 ล้านตันต่อปีจากแหล่งโกลฟินโญ-อาตุม และมีบริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนการลงทุนในโครงการดังกล่าว ร้อยละ8.5
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ Execute and Expand ส่งผลยอดขายปีนี้เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 เสร็จสิ้นเร็วกว่าที่คาด ผลิตก๊าซธรรมชาติได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมถึงการเร่งการผลิตก๊าซฯ ในโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช และ ปตท.สผ.ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจ ค้นพบก๊าซธรรมชาติและน้ำมันบริเวณนอกชายฝั่งในประเทศมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลุมโดกง-1 หลุมซีรุง-1 หลุมกุลินตัง-1 รวมทั้งการค้นพบแหล่งลัง เลอบาห์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทเคยสำรวจพบ โดย ปตท.สผ.มีแผนจะเร่งการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้เพื่อสร้างการเติบโตและเพิ่มปริมาณสำรองให้แก่บริษัทต่อไปในระยะยาว.-สำนักข่าวไทย