กรุงเทพฯ 21 ส.ค- กรมสรรพากร ลุยเก็บภาษี ‘e-Service’ 1 กันยายนนี้ โดยแพลตฟอร์มต่างชาติลงทะเบียนแล้ว 18 ราย คาดจะมีรายได้เพิ่ม 5,000 ล้าน หลังสำรวจพบมียอดใช้งานผ่านออนไลน์พุ่งสูงต่อเนื่อง
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกว่าการจัดเก็บภาษี e-Service ในอัตรา 7% ต่อปี จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย และมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะเริ่มมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในวันที่ 1 กันยายนนี้ โดยผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติในไทย ที่มาลงทะเบียนเสียภาษีผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) ของกรมสรรพากรแล้วจำนวน 18 ราย จากบริษัทที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีนี้รวมประมาณ 100 ราย โดยสรรพากรคาดว่าในช่วงที่เหลือของเดือนสิงหาคมนี้จะมีการทยอยมาลงทะเบียนจนครบจำนวน 100 ราย
“กรมสรรพากรเพิ่งเริ่มเปิดระบบ VES ให้ลงทะเบียนไปเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ตอนนี้ได้มาแล้ว 18 ราย ต้องถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี โดยเราประเมินว่าไทยจะมีรายได้จากภาษี e-Service ประมาณปีละ 5 พันล้านบาท แต่นี่เป็นตัวเลขที่ประเมินก่อนเกิดวิกฤตโควิด ในช่วงวิกฤตโควิดเราพบว่าการใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาก ทำให้มีโอกาสที่การจัดเก็บรายได้จากภาษีส่วนนี้จะสูงขึ้นตามไปด้วย” เอกนิติกล่าว
อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า การศึกษาตัวอย่างของประเทศที่เริ่มจัดเก็บภาษี e-Service ไปแล้ว 60 ประเทศทั่วโลก พบว่าภาษี e-Service จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมาคนไทยที่ทำธุรกิจออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่แพลตฟอร์มต่างชาติกลับไม่ต้องเสีย ดังนั้น การมีภาษีตัวนี้ขึ้นมานอกจากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ ก็จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย และอาจจูงใจให้เกิดธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆ หรือกระทั่ง Unicorn ของไทยก็เป็นได้
สำหรับข้อกังวลว่าเมื่อเก็บภาษี e-Service แล้วจะเกิดการผลักภาระจากผู้ให้บริการต่างชาติสู่ผู้บริโภคคนไทยหรือไม่นั้น เอกนิติระบุว่า ในประเด็นนี้บทเรียนจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสองรูปแบบ หากเป็นผู้ให้บริการในธุรกิจที่มีคู่แข่งในตลาดเยอะ เช่น การดูหนัง ฟังเพลง การผลักภาระจะไม่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีของผู้ให้บริการที่มีคู่แข่งไม่มากอาจเกิดการผลักภาระขึ้นได้เช่นกัน
การเก็บภาษี e-Service ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของบริษัทต่างชาติในการตัดสินใจว่าจะเข้ามาให้บริการในประเทศใดหรือไม่ นอกจากนี้ อัตราภาษีของไทยก็ถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ในกลุ่มอาเซียน สิงคโปร์เก็บที่ 7% เท่ากัน อินโดนีเซียเก็บที่ 10% ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปเก็บตั้งแต่ 17-27%
“นอกจากนี้ ภาษี e-Service จะมีประโยชน์กับไทยมากในอนาคต เพราะจะช่วยให้เรามีฐานไปใช้คำนวณภาษีนิติบุคคลที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จะต้องจ่ายให้กับประเทศที่ดำเนินกิจการอยู่ เมื่อกลุ่มประเทศ OECD ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้” เอกนิติกล่าว.-สำนักข่าวไทย