นนทบุรี 6 ส.ค. – รัฐมนตรีพาณิชย์เผยหลังประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 เห็นชอบแนวทางชดเชยประกันรายได้เกษตรกรข้าวปี 3 เตรียมชงกรอบใช้เงินปีนี้กว่า 80,000 ล้านบาทต่อที่ประชุม นบข.เร็วนี้ หลังราคาข้าวเปลือกปีนี้ต่ำ ย้ำเริ่มมีสัญณาณราคาข้าวไทยจะแข่งขันตลาดโลกได้ เตรียมจับมือเอกชนลุยดันส่งออกข้าวไทยทุกตลาด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการตลาด ครั้งที่ 1/2564 ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประชุมผ่านระบบ Zoom ว่า ที่ประชุมได้ประเมินผลผลิตข้าวปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิต 26 ล้านตัน โดยข้าวเปลือกมากกว่าฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา 4.58% หรือประมาณ 5% ซึ่งในปีนี้ผลผลิตข้าวจะมีมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องเตรียมวงเงินที่จะชดเชยตามโครงการประกันรายได้ปี 3 และได้เตรียมแผนงานประกันรายได้ไว้ในปีนี้จะต้องใช้วงเงินชดเชยประกันรายได้ให้กับเกษตรกรปลูกข้าวทั่วประเทศไว้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาทที่จะเสนอขอความเห็นชอบต่อประชุมคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.)ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้งหนึ่งก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตาม วงเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวครั้งที่ 3 จำนวน 80,000 ล้านบาทนี้ จะสูงกว่าประกันรายได้ครั้งที่ 2 ทีมีกรอบวงเงินอยู่ที่กว่า 49,000 ล้านบาท เนื่องจากคาดการณ์ปริมาณข้าวเปลือกในฤดูกาลใหม่นี้สูงถึงกว่า 26 ล้านตันข้าวเปลือก ประกอบกับราคาข้าวเปลือกเจ้า 5% ขณะนี้มีราคาลดลงกว่าปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 7,700-8,000 บาท ซึ่งราคาในปี 63 อยู่ที่ตันละ 8,700-9,400 บาท ดังนั้น จำเป็นจะต้องเตรียมวงเงินในไว้สูงเพื่อชดเชยให้กับเกษตรกรที่จะได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้ แต่การรับเงินชดเชยของเกษตรกรจะเป็นไปตามกฤเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้ของรัฐบาลเป็นสำคัญ และหากช่วงเวลาที่ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นการชดเชยประกันรายได้ก็จะลดลงหรืออาจไม่จำเป็นต้องชดเชยรายได้ให้เกษตรกร จึงจำเป็นต้องตั้งวงเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรข้าวปี 3 ในอัตราที่สูงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับประกันรายได้ในครั้งที่ 2
นอกจากนี้ เริ่มมีสัญญาณที่ดีจากการรายงานของกลุ่มสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยขณะนี้ราคาข้าวไทยเมื่อเทียบกับราคาข้าวของประเทศเวียดนามและราคาข้าวอินเดียเริ่มมีราคาไม่แตกต่างกันมากนักที่จะทำให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆในทั่วโลกได้ ดังนั้น แม้ในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกข้าวไทยดูจะมีปริมาณเพียงแค่ 3-4 ล้านตัน แต่ด้วยสัญณาณราคาข้าวไทยจะแข่งขันได้และด้วยอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะเงินบาทออนค่า จึงเหมาะที่ราคาข้าวไทยจะได้รับความนิยมและต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น จึงเตรียมกำหนดแผนงานที่จะร่วมมือกับภาคเอกชนที่จะเร่งเดินหน้าทำตลาดข้าวไทยในทุกช่องทางเพื่อให้ข้าวไทยไปในตลาดโลกมากขึ้น พร้อมทั้งภาครัฐโดยกรมการค้าต่างประเทศจะเร่งเจรจาขายข้าวไทยในลักษณะรัฐต่อรัฐกับประเทศต่างๆเช่น จีน บังคลาเทศและอีกหลายประเทศด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม ยังมั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกปีนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 6 ล้านตัน แม้จะมีอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมาเกิดจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กระทบต่อภาคการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกและปัญหาในด้านการขนส่งสินค้าที่จาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าไปตลาดโลก และปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่านาน จึงทำให้การทำตลาดข้าวไทยลดกว่าในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 3 จะเดินหน้าในหลักการเดียวกัน โดยหากราคาซื้อขายต่ำกว่าราคาประกันรายได้ รัฐบาลก็จะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรผ่านบัญชี ธ.ก.ส.โดยตรง ราคาประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ราคายางแผ่นดิบ 60 บาท ราคาน้ำยางสด 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2.50 บาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กก.ละ 8.50 บาท และปาล์มน้ำมัน กก.ละ 4 บาท หากราคาตลาดสูงกว่านี้เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ถ้าราคาตามกลไกตลาดไม่ถึงราคาที่ประกันรายได้ไว้นี้เกษตรกรก็รับเงินส่วนต่างไปโดยเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 64 ถึง 31 ตุลาคม 64 และภาคใต้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 64 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 65 และการจ่ายเงินส่วนต่างจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 65 ส่วนภาคใต้จะเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างตั้งแต่เดือนมีนาคม 65 ถึงพฤษภาคม 65
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการคู่ขนานที่จะเข้ามาช่วยเสริมเพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวมี 3 มาตรการ มาตรการที่หนึ่ง สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวชะลอการขาย ในช่วงที่ข้าวออกสู่ตลาดมากเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวราคาตกจนเกินไปโดยเกษตรกรที่ชะลอขายข้าวจะได้รับเงินช่วยเหลือตันละ 1,500 บาท มาตรการที่สอง ช่วยเหลือดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับสหกรณ์หรือสีโรงสีที่เก็บสต๊อกข้าวและไม่ปล่อยออกสู่ตลาด โดนชดเชยดอกเบี้ย 3% มาตรการที่สาม เร่งรัดส่งเสริมการส่งออกข้าว เพื่อระบายข้าวในประเทศเพราะฤดูการผลิตหน้าจะมีเข้าออกสู่ตลาดมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงประมาณ 5% จึงมีมาตรการช่วยเหลือให้มีการส่งออกข้าวโดยช่วยดอกร้อยละ 3 เป็นเวลา 6 เดือน ในเดือนตุลาคมปีนี้ถึงเดือนมีนาคมปีหน้าอีกด้วย . – สำนักข่าวไทย