อุทัยธานี 2 ก.ค. – กรมอุทยานแห่งชาติกำชับเฝ้าระวังโรคลัมปี สกิน ในวัว-ควายแพร่ระบาดสู่ “วัวแดง” ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งจะส่งผลเสียรุนแรงต่อสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ในผืนป่ามรดกโลก
นายธนิตย์ หนูยิ้ม ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) กล่าวว่า สั่งการให้หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกำชับเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเข้มข้นในการป้องกันโรคโรคลัมปี สกิน จากวัว-ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านลามไปติดวัวแดงและสัตว์มีกีบอื่นๆ ที่เป็นสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยได้ประสานงานกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุทัยธานี เพื่อทราบสถานการณ์ความรุนแรงของโรคอย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือชาวบ้านไม่นำปศุสัตว์เข้ามาเลี้ยงใกล้แนวเขตอุทยานฯ อย่างเด็ดขาด และได้จัดเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า 20 คน ลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังเป็นจุดๆ เพื่อไม่ให้ลักลอบนำปศุสัตว์มาเลี้ยงในพื้นที่อุทยานฯ และผลักดันสัตว์ป่าที่จะออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบวัวของราษฎรที่คาดว่า อาจเป็นโรคลัมปิ สกิน ในบ้านอ่างห้วยดง อำเภอลานสักซึ่งพบวัวมีตุ่มที่ผิวหนังคล้ายอาการโรคลัมปิ สกิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอเก็บตัวอย่างไปตรวจในห้องปฏิบัติการแล้ว เจ้าหน้าที่จึงขอให้ชาวบ้านเลี้ยงวัวอยู่เฉพาะภายในบริเวณคอก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดี
สำหรับวัวแดง (Bos javanicus) จัดเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ (Endangered : EN) ตามรายงานการประเมินสถานภาพของ IUCN และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งปัจจุบันพบจำนวนมากขึ้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมีพื้นที่ 1.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสัตว์ป่าอย่างมาก ที่สำคัญ เช่น วัวแดง ควายป่า เสือโคร่ง เป็นต้น ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากองค์การ UNESCO เมื่อปี พ.ศ. 2534 เนื่องจากเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายของชนิดพันธุ์ทั้งพืชป่าและสัตว์ป่า รวมทั้งยังมีสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์. – สำนักข่าวไทย