ทำเนียบฯ 24 พ.ค. – ทีมเศรษฐกิจออกโรง ยืนยันวงเงินจาก 3 พ.ร.ก. รวม 1.25 ล้านล้านบาท รองรับดูแลผลกระทบจากโควิด-19 เพียงพอ เผย “คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้” เสนอ ครม.สัปดาห์หน้า ครึ่งปีหลังมุ่งเน้นช่วยเหลือเอสเอ็มอีรักษาจ้างงาน รองรับนักศึกษาจบใหม่
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงภายหลังการประชุม ครม.ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ เมื่อรวมกับ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนแบงก์ชาติช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการ และโครงการพักทรัพย์พักหนี้ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท, พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพทางการเงิน 4 แสนล้าน รวมวงเงินจาก 3 พ.ร.ก. รวม 1.25 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นวงเงินดูแลเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ สำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันป้องกันปัญหาแพร่ระบาดอย่างจริงจัง เพื่อลดการใช้เงินแก้ปัญหาเพิ่มเติม เมื่อรัฐบาลเร่งระดมฉีดวัคซีนเพิ่มให้ครอบคลุม อาจจะใช้เงินไม่ถึงวงเงินที่เตรียมรองรับไว้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จัดเตรียมวงเงินสำหรับกลุ่ม 1 เพื่อใช้แก้ปัญหาด้านสาธารณสุข วงเงิน 4.5 แสนล้านบาท อนุมัติไปแล้ว 2.58 แสนล้านบาท สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การจัดซื้ออุปกรณ์ ห้องความดันบวก-ลบ การจัดทำโรงพยาบาลสนาม คงเหลือ 1.91 หมื่นล้านบาท ใช้สำหรับจัดเตรียมวัคซีน ยารักษาโรค นับว่าการใช้เงินเป็นไปตามแผน
กลุ่ม 2 สำหรับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้กับทุกกลุ่ม วงเงิน 6.58 แสนล้านบาท อนุมัติเงินแล้ว 666,000 ล้านบาท ผ่านหลายโครงการ ในการเยียวยาประชาชน ทั้ง เราชนะ เราไม่ทิ้งกัน กลุ่มเปราะบาง โดยการอนุมัติงบแต่ละครั้งครอบคลุมดูแลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ 40 ล้านคน ในส่วนของกลุ่ม 3 รองรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท อนุมัติงบแล้ว 2.15 แสนล้านบาท จำนวน 200 โครงการ ยังเหลือ 1.41 แสนล้านบาท สำหรับการเยียวยาผ่านโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 และยิ่งใช้ยิ่งได้ เพื่อใช้เงินตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า
ดังนั้น การใช้เงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.63 แสนราย การอบรม เติมความรู้ภาคเกษตร 9 หมื่นราย เมื่อเบิกจ่ายเงินออกสู่ระบบ 8.17 แสนล้านบาท หรือเบิกจ่ายไปแล้วถึงร้อยละ 79.88 ส่งผลต่อจีดีพี ร้อยละ 2 และเตรียมแผนใช้อีกส่วนที่เหลือทุกโครงการครึ่งปีหลัง จึงเป็นไปตามแผนเบิกจ่าย จึงต้องจัดหาเงินกู้จาก พ.ร.ก.ฉบับใหม่เพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท โดยภาครัฐต้องการเร่งรัดเงินลงทุนโครงการสำคัญ การปรับโครงการช่วยเหลือตรงไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น เอสเอ็มอี เพราะได้รับผลกระทบมาปีกว่าแล้ว เพื่อให้รักษาระดับการจ้างงาน รวมถึงการเตรียมแผนรองรับนักศึกษาจบใหม่ ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้าทั่วไป ได้รับประโยชน์จากโครงการใช้จ่าย คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ไปแล้วช่วงที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย