รัฐสภา 24 เม.ย.-“ศิริกัญญา” จี้รัฐบาลสื่อสารตรงไปตรงมา มั่นใจไทยยังไม่ได้รับคอนเฟิร์มวันเจรจากำแพงภาษีสหรัฐฯ ทำให้ต้องเลื่อน เชื่อปัญหาสิทธิเสรีภาพมีผลกระทบ ชี้นายกฯ ยังไม่ยุบสภา เพราะคะแนนนิยมยังต่ำ บอกพร้อมให้ความร่วมมือ หากต้องการข้อเสนอแนะ
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการส่งทีมรัฐบาลไทยไปเจรจากำแพงภาษีกับสหรัฐอเมริกา ว่า ตอนนี้เราได้ติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะได้ติดตามความคืบหน้าการเจรจาของหลายประเทศด้วยเช่นกัน เช่น ก่อนหน้านี้ที่ได้เปิดเผยไปว่ามี 6 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก มีความคืบหน้าในการเจรจากับสหรัฐและกำหนดวันเรียบร้อยหมดแล้ว แต่เมื่อกลับมาดูทางการไทยพบว่ามีความสับสนมีความอยู่ตลอดเวลา ในเรื่องกำหนดการเดินทางไปเจรจา และที่เลวร้ายกว่านั้นคือการที่นายกรัฐมนตรี กับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดขัดกันเอง ที่นายกฯ บอกว่า การเลื่อนเป็นเพียงเพราะมีเอกสารข้อมูลบางอย่างที่ สหรัฐฯขอเพิ่มเติมเลยต้องเลื่อน แต่ ทางนายพิชัยบอกว่า ไม่รีบ จะรอเป็นคิวกลางๆ แต่ไม่ใช่คิวท้ายเพื่อดูการต่อรอง การเจรจาของประเทศอื่นก่อน
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่าก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีไม่พูดอะไรและฟังรัฐมนตรีคลังคนเดียว ก็อาจจะเชื่อว่าการเจรจา วางยุทธศาสตร์แบบนี้จริงที่อยากจะได้คิวกลางรอดูท่าทีประเทศอื่น และจะเชื่อมากกว่านี้หากนายพิชัยบอกว่าจะประชุมเจรจาวันไหน ซึ่งอาจจะเป็นเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนก็ได้
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เมื่อ นายกฯ พูดอย่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพูดอย่าง และสุดท้ายยังไม่มีกำหนดวันที่ชัดเจน เป็นการเลื่อนแบบไม่มีกำหนดเช่นนี้ ยิ่งสร้างความสับสน จึงมั่นใจว่ารัฐบาล ยังไม่มีการคอนเฟิร์มวันนัดกับสหรัฐอเมริกา และเมื่อรัฐบาลไทยนัดสหรัฐฯไม่ตอบรับเมื่อใกล้วันจึงจำเป็นเลื่อนกำหนดการ ออกไปจนกว่าสหรัฐฯจะตอบกลับอีกที
“ซึ่งอันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ก็เรียกร้องให้รัฐบาลสื่อสารกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่าตกลงติดปัญหาอะไร ทำไมสหรัฐถึงยังไม่ตอบรับการเจรจาเราอีก เพราะรอบบ้านเราก็ไปหมดแล้ว บางเจ้าได้เจรจาเข้ารอบสองไปแล้ว เราไม่ได้บอกให้รีบ เราเชื่อในกลยุทธ์ Wait and See ของรัฐบาลว่าอาจ work เหมือนกัน เพียงช่วยทำให้เรามั่นใจ ว่าที่ติดขัดจะแก้ไขได้ และยืนยันกำหนดการว่าควรไปเมื่อไหร่กันแน่” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
เมื่อถามว่านักวิชาการได้วิเคราะห์สาเหตุที่สหรัฐไม่ยอมตอบกลับเป็นเพราะปัญหาทางการเมืองของไทยที่ไม่มี สิทธิเสรีภาพเช่นเรื่องอุยกูร์ และกรณีนายพอล แชมเบอร์ หรือไม่นั้น น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า สิ่งที่นักวิชาการคาดทั้ง 2 เรื่องนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่ทำให้สหรัฐอเมริกามีท่าทีกับเราแบบนี้ ต้องอย่าลืมว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็มีผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน หนึ่งในทีมที่อยู่ในชุดเจรจาแม้ไม่ได้อยู่ในโต๊ะเจรจาทุกครั้ง เช่น นายมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐ เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่พอใจ ที่ไทยส่งกลับชาวอุยกูร์ จึงคิดว่าส่วนนี้อาจเป็นปัจจัยให้สหรัฐฯ ไม่ยอมเดินหน้าเจรจากับไทย จนกว่าจะได้รับคำอธิบาย จากประเทศไทยก่อน
ส่วนจากการทำงานที่ผ่านมายังสามารถเชื่อมือรัฐบาลได้หรือไม่ว่าจะนำพาประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า หากตนบอกว่ายอมให้รัฐบาลกู้เงินได้ ก็มีหลายคนที่ไม่ไว้วางใจและไม่เชื่อมือว่าหากปล่อยให้รัฐบาลทำแบบนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่อยากได้หรือไม่
“ส่วนตัวก็พยายามปลอบใจตัวเองว่า ในวันนี้ไม่มีทางเลือกมากนัก หากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการยุบสภา คิดว่านายกจะไม่ยุบสภาเร็ว ๆ นี้แน่นอน เนื่องจากความนิยมยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ในส่วนของพรรคร่วมที่อาจนำสู่การเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวคิดว่าไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นทางเลือกจึงมีอยู่น้อย จำเป็นต้องพึ่งพารัฐบาลแก้ปัญหาในการแก้ปัญหานี้ จึงพยายามเปิดใจให้กว้าง ให้รัฐบาลมีทางเลือกเท่าที่จะทำงานได้” น.ส.ศิริกัญญากล่าว
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า เราพร้อมให้ความเห็นและความร่วมมือเต็มที่หากรัฐบาลต้องการ ในสภาก็พร้อมทำหน้าที่ แน่นอนว่าต้องตรวจสอบอย่างเข้มข้นหากให้รัฐบาลกู้เงิน ในวันนี้คงต้องให้รัฐบาลทำงาน ไม่อย่างนั้นอาจเกิดปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังที่แก้ได้ไม่ง่าย.-319.-สำนักข่าวไทย