กาญจนบุรี 14 พ.ค. – กรมอุทยานฯ ร้อง ป.ป.ช. สอบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดและส.ป.ก.จังหวัดกาญจนบุรี กับพวกรวม 56 คน มีมติและออกส.ป.ก.4-01 ในป่าธรรมชาติทับอุทยานแห่งชาติไทรโยค ตามพ.รบ.ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
นายหิรัญเศรษฐ์ เหยี่ยวประยูร ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป.ป.ช. พร้อมด้วยนางสาวสุนันทา จำปาเงิน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดกาญจนบุรีเข้าตรวจสอบที่ดินบ้านพุองกะ ม.4 ต.ท่าเสา อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ซึ่งครอบครองโดยนายกฤชชาติ (ขอสงวนนามสกุล) เนื้อที่ 45 ไร่ 2 งาน17 ตาราวา โดยได้รับส.ป.ก. 4-01 ที่ออกเมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2561 ต่อมาได้เข้าดำเนินคดีและตรวจยึดไม้ป่าหวงห้าม เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2564 โดยพบไม้อายุร่วม 40 ปี 400 ท่อนในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อตรวจสอบพื้นที่พบว่า ทับซ้อนกับเขตอุทยานไทรโยค 5 ไร่ 2 งาน 62 ตารางวา
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) และนายสมเจตน์ จันทนา หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยคได้ทำบันทึกผลตรวจสอบถึงที่มาการออก ส.ป.ก.ดังกล่าว โดยตรวจดูจากเอกสารบันทึกการนำทำการรังวัดที่ดิน ลว.14 มิ.ย2559 ตรวจดูเอกสารข้อมูลตามคำขอเข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดินลว.20 มิ.ย.2559 ที่นายกฤชชาติฯได้มาแจ้งข้อมูลว่า ตนเองเป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและทำไร่มันสำปะหลังเต็มแปลง โดยมีนายณัฎฐสิทธิ์ รุ่งเรืองเลิศ ช่างสำรวจเป็นผู้รังวัดปักหลักเขตที่ดินในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว นายนภนต์ อิ่มเอิบ เจ้าหน้าที่ส.ป.ก.เป็นผู้สอบสวนสิทธิคุณสมบัติความเป็นเกษตรกรของนายกฤชชาติฯ น.ส.มันทนา ศรอารา ผู้ใหญ่บ้านม. 4 ต.ท่าเสา เป็นผู้รับรองการรังวัดปักหลักเขตที่ดินในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว แต่เมื่อมาตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลัง ปีพ.ศ. 2559 ในแปลงส.ป.ก.ดังกล่าว อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ พบว่ามีสภาพเป็นป่าผลัดใบเกือบทั้งหมด มีการทำพืชไร่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากการสืบสวนของคณะเจ้าหน้าที่พบว่า นายกฤชชาติฯ มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่เขตบางซื่อ กทม.ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในเขตอ.ไทรโยคในเดือนเม.ย.2559 เพียงประมาณ 3 เดือน ในช่วงเดือนก.ค. 2559 ก็ได้ย้ายกลับมาอยู่เขตบางซื่อ กทม.อีกครั้ง ที่ผ่านมานายกฤชชาติ ฯ ทำงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบน้ำเสีย ปัจจุปัน นายกฤชชาติฯ อาศัยอยู่บ้านหลังหนึ่ง ตั้งอยู่ที่แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กทม. และยังพบว่าเป็นที่อยู่เดียวกันกับบริษัทเคมีคอล ไดนามิคส์ จำกัด ที่มีการดำเนินงานเกี่ยวกับบริการด้านระบบน้ำบำบัดน้ำเสีย
เมื่อคณะเจ้าหน้าที่ได้ตรวจดูรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการปฎิรูปที่ดินอำเภอไทรโยค ที่ได้มีประชุมครั้งที่ 2/2560 ในวันที่ 7 ก.ย. 2560 โดยมีนายเดโช ประกาศแก่นทราย นายอำเภอไทรโยคเป็นประธาน นายธเนตร พารา นิติกรชำนาญการพิเศษ ส.ป.ก.กาญจนบุรี เป็นเลขานุการ พร้อมด้วยอนุคณะกรรมการอีก 23 คน ได้มีมติอนุคณะกรรมการเห็นชอบ ให้นายกฤชชาติฯ เข้าทำประโยชน์ในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว และตรวจสอบรายงานการประชุม คณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้มีการประชุมครั้งที่ 3/2560 ในวันที่ 25 ก.ย.2560 โดยมีนายณรงค์ รักร้อย รองผวจ.กาญจนบุรี เป็นประธาน นายธเนตร พารา นิติกรชำนาญการพิเศษ เป็นเลขานุการ พร้อมคณะกรรมการอีก28 คนได้มีมติคณะกรรมการอนุมัติให้นายกฤชชาติฯ เข้าทำประโยชน์ในแปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว แต่เมื่อมาตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังในปี พ.ศ. 2560 อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญแผนที่ พบว่าบริเวณแปลง.ส.ป.ก. ดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าธรรมชาติทั้งหมด ไม่มีการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียมย้อนหลังปี พ.ศ.2561 ในแปลง ส.ป.ก. ดังกล่าว ในช่วงที่นายสมศักดิ์ แป้นถนอม ปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี (ส.ป.ก. จังหวัดกาญจนบุรี) ออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดินส.ป.ก.4-01ข เลขที่4878 วันที่ 3 ม.ค.2561 ให้กับนายกฤชชาติฯ ตามมติของคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินจังหวัดกาญจนบุรี ครั้งที่ 3/2560 อ่าน แปล ตีความ โดยผู้เชี่ยวชาญแผนที่ พบว่า มีสภาพป่าธรรมชาติเต็มแปลง ไม่มีการทำประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด
คณะเจ้าหน้าที่เห็นว่า การรังวัดปักแนวเขต การสอบสวนสิทธิ การรับรองของผู้ปกครองท้องที่ มติของอนุคณะกรรมการฯมติของคณะกรรมการฯรวมถึงการออกหนังสือส.ป.ก. 4-01ข.ดังกล่าว ขัดกับหนังสือ ด่วนที่สุด กษ1205/323 ลว.11 ม.ค. 2536 ข้อ3ในทางปฎิบัติ หากมีสภาพป่าหลงเหลือ ส.ป.ก.ก็จะไม่จัดที่ดินให้กับราษฎร ขัดกับมติครม.30 มี.ค.2536 ที่มีมติว่า บริเวณป่าสงวนฯ ใดมีสภาพป่าสมบูรณ์ก็ควรจะได้ดำเนินการกันพื้นที่ออกจากเขตปฎิรูปที่ดิน และให้รวมถึงพื้นที่อื่นด้วยเช่น กระทรวงกลาโหม กรมธนารักษ์ ฯลฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ขัดกับมติครม. 1 มี.ค.2537 ที่มีมติว่าในการสำรวจรังวัดออก ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่ป่าสงวนฯให้ดำเนินการเฉพาะในพื้นที่ที่มีราษฎรถือครองทำกินแล้วเท่านั้น และให้รวมถึงพื้นที่อื่นด้วย เช่นกระทรวงกลาโหม กรมธนารักษ์ฯลฯ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นอกจากนี้แปลง ส.ป.ก.ดังกล่าว ยังล้ำเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค เป็นการขัดกับมติครม.30 มิ.ย.2541 ข้อ2.1 ที่ไม่ให้ดำเนินการปฎิรูปที่ดินในเขตป่าอนุรักษ์
คณะเจ้าหน้าที่เห็นว่า ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบนั้น ศาลฎีกาได้เคยมีคำพิพากษาที่ 12909/2557 ตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า จำเลย ลงลายมือชื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) ให้แก่นายด้าเอ็ม ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย โดยไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องว่า นายด้าเอ็ม ยื่นขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือไม่ และทำให้นายด้าเอ็ม ได้ไปซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.)โดยไม่มีสิทธิได้รับ ถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับผู้อื่น การกระทำของจำเลย จึงเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
ทั้งนี้ทางกรมอุทยานฯ ได้มอบบันทึกร้องเรียนให้ป.ป.ช. ดำเนินการตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ทางกรมอุทยานฯ ยังพบว่า มีแปลง ส.ป.ก. ออกทับซ้อนอยู่กับอุทยานแห่งชาติไทรโยค ที่ยังมีสภาพป่าสมบูรณ์ถึง 2,896ไร่ ซึ่งทางอุทยานแห่งชาติไทรโยคจะรวบรวม ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป. – สำนักข่าวไทย