กรุงเทพฯ 12 พ.ค.-บางจากฯ ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท ยอดจำหน่ายผ่านตลาดน้ำมันค้าปลีกเดือนมีนาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 390 ล้านลิตรต่อเดือน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจากฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 41,230 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน) มี EBITDA 4,737 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 286 เมื่อเทียบกับปีก่อน) และมีการบันทึกกลับรายการด้อยค่าทรัพย์สินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 400 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 808 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 149 เมื่อเทียบกับปีก่อน) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท
“ในด้านการดำเนินธุรกิจ ยังคงคุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 ระลอก3 รวมถึงบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนบนพื้นฐานของกระแสเงินสด”นายชัยวัฒน์กล่าว
ไตรมาส 1/64 กลุ่มบริษัทฯ มีกำไรสตอกน้ำมัน 2,473 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก มีค่าการกลั่น 3.24 เหรียญสหรัฐฯ และการสำรองน้ำมันดีเซลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุนราคาน้ำมันต่ำ เพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงที่โรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุง ก็ทำให้มีกำไรส่วนนี้ราว 600 ล้านบาท ช่วยลดผลกระทบของค่าการกลั่นพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ หยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามวาระ (Major Turnaround)ที่ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาส 1/2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 64.9 พันบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตรวม
ยอดจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกไตรมาส 1 ยังขยายตัวและเดือนมีนาคม 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 390 ล้านลิตรต่อเดือน ค่าการตลาดรวมสุทธิปรับลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ B100 และผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งไตรมาส และกลุ่มธุรกิจการตลาดสามารถผลักดันยอดขายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปได้อย่างต่อเนื่องโดยมียอดจำหน่าย 8.9 ล้านลิตร ในเดือนมีนาคมซึ่งถือเป็นยอดสูงสุด ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปในประเทศของบริษัทฯ เพิ่มเป็นร้อยละ 11 จากร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 15.9 (ตามข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งสิ้น 1,243 สถานี
ในส่วนกลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 140 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA ลดลง
-สำนักข่าวไทย