กรุงเทพฯ 6 พ.ค.-นักวิชาการระบุรัฐต้องเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า 2.4 แสนล้านบาท จากผลกระทบโควิดระลอกใหม่เสียหายสูง 4-5 แสนล้านบาท ย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือลดแพร่เชื้อรายวันให้น้อยลงและควบคุมให้อยู่
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 นำเงินงบประมาณกว่า 240,000 ล้านบาทเข้ามาดำเนินโครงการต่างๆ ของภาครัฐในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 นั้น โดยเห็นว่าจะเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วง 2 ไตรมาสดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง
ทั้งนี้ เห็นว่า การระบาดโควิด-19 ระลอก 3 รุนแรงและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่า 400,000-500,000 ล้านบาท ดังนั้น วงเงินที่รัฐบาลนำมาอัดฉีดระบบเศรษฐกิจเพียงกว่า 240,000 ล้านบาท จะยังไม่เพียงพอชดเชยความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอย่างแน่นอน และคงจะต้องติดตามว่าในช่วงปลายปีภาครัฐบาลจะออกมาตรการอื่นๆโดยจะต้องใช้เม็ดเงินเพิ่มอีกกว่า 200,000-250,000 ล้านบาทอีกหรือไม่ เพราะหากไม่มีเม็ดเงินเพิ่มเติมเข้ามาอัดฉีดระบบเศรษฐกิจอีกจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะมีปัญหาได้
นอกจากนี้ ไม่เพียงต้องหาเม็ดเงินอัดฉีดระบบเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือเพื่อลดปัญหาปริมาณคนติดเชื้อโควิด-19 รายวันจะต้องลดลงและอยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ เพราะหากยังมีปริมาณคนติดเชื้อรายวันสูงเกินกว่า 2,000 คนเช่นนี้การใช้เม็ดเงินอัดฉีดระบบเศรษฐกิจจะไม่ได้ผลเต็มที ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันเร่งหาวัคซีนและเดินหน้าฉีดวัคซีนเพื่อให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่และลดปัญหาการติดเชื้อรายวันให้ลดน้อยลง เพราะเชื่อว่าหากปริมาณคนติดเชื้อน้อยลงเข้าสู่จุดควบคุมสถานการณ์ต่างๆกิจกรรมการเปิดประเทศจะกลับมาและมีแผนการทำกิจกรรมต่างๆได้ ซึ่งเวลานี้ทุกภาคส่วนคาดหวังว่าการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดจะดีขึ้นได้ในเร็วๆนี้ หากทำได้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ แต่หากยังควบคุมไม่ได้โอกาสเศรษฐกิจไทยจะติดลบก็เห็นเช่นกัน.-สำนักข่าวไทย