กรุงเทพฯ 1 เม.ย.-คณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก เห็นชอบตั้ง “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” พร้อมคณะทำงานฯ ปรับแผนปฏิรูประบบรถเมล์ใน กทม.ให้มีความชัดเจนใน 1 เดือน ทั้งเส้นทาง, ค่าโดยสาร, ปริมาณรถในแต่ละสาย และการรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก วันนี้ (1 เม.ย.) ได้พิจารณาแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ภายใต้แนวคิดที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปรถโดยสารประจำทางฯ และยังเป็นการยกระดับคุณภาพการให้บริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งสามารถแก้ปัญหาตามนโยบาย 5 ด้านของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ลดค่าครองชีพของประชาชน ลดปัญหาการจราจร ลดมลพิษทางอากาศ ลดปัญหาการขาดทุนของ ขสมก. และลดภาระการเงินของภาครัฐ
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคลัง ,สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังมีความเห็นว่าควรปรับปรุงรายละเอียดของแผนฟื้นฟูฯ ขสมก.ในบางประเด็นให้มีความชัดเจนมากขึ้น อาทิ การขอรับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ การจัดหารถโดยสารใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจ้างเอกชนให้บริการเดินรถ เป็นต้น
ดังนั้นคณกรรการ จึงได้สั่งการให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับแผนการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพอย่างเต็มที่ โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นเลขานุการคณะทำงานดังกล่าว และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กลับไปพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุป
โดยยังยึดหลักการจัดการเดินรถโครงข่ายเดียว (Single Network) การบริหารจัดการระบบเดียว (Single Management) และค่าโดยสารอัตราเดียว (Single Price) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่เคยมอบไว้ในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ลดภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยให้คณะทำงานชุดนี้รายงานผลกลับมาให้คณะกรรมการฯทราบภายใน 30 วัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวด้วยว่า สำหรับเส้นทางการให้บริการ ตามแผนปฏิรูประบบรถเมล์โดยสาร ที่เสนอมาในขั้นแรก มีการปรับปรุงและกำหนดเส้นทางการเดินรถใหม่ซึ่งมีความครอบคลุม ลดการทับซ้อนของเส้นทาง และรองรับการเชื่อมต่อระบบขนส่งอื่น ทั้งระบบราง น้ำ และอากาศ โดยในเบื้องต้นมีจำนวนทั้งสิ้น 162 เส้นทาง ,รถที่นำมาให้บริการต้องเป็นรถปรับอากาศ และมีการจัดเก็บค่าโดยสารโดยใช้ระบบ E-Ticket และกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นอัตราเดียว (Single Price) ในอัตรา 30 บาท/คน/วัน อย่างไรก็ตาม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน ที่เดินทางเที่ยวเดียว จะมีการกำหนดอัตราค่าโดยสารในอัตรา 15 บาท/เที่ยว ด้วย
โดยในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบ E-Ticket เป็นระบบตั๋วร่วม เพื่อให้สามารถใช้บัตรโดยสารใบเดียวสามารถเดินทางได้ทุกระบบขนส่ง โดยมีกรมการขนส่งทางบกเป็นหน่วยงานกำกับ ดูแล. การจัดจำนวนรถบริการในแต่ละเส้นทางให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาซึ่งต้องมีการบริหารจัดการ โดยนำจำนวนรถทั้งหมดมารวมกันเพื่อดำเนินการจัดสรร ได้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มีการกำหนดจำนวนรถเป็นแต่ละสายหรือเส้นทางตายตัว แต่จะมีการออกแบบรถให้สามารถนำไปวิ่งได้ในทุกเส้นทางโดยมีการสื่อสารผ่านแอพพลิเคชั่น ป้ายอัจฉริยะ เพื่อให้ประชาชนผู้รอใช้บริการ ทราบข้อมูลการเดินรถที่กำลังเข้าป้ายจอดรถ คันต่อไป อย่างไรก็ตาม แนวทางทั้งหมดที่นำเสนอวันนี้ จะต้องนำกลับไปให้คณะทำงานพิจารณาให้รอบด้านอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย