กรุงเทพฯ 1 เม.ย.-ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดการณ์สงกรานต์ปีนี้จะมีเงินสะพัด 110,000 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปีไม่นับรวมกับปี 2563 ซึ่งไม่กิจกรรมวันสงกรานต์
นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จาก 1,256 กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ยังตั้งใจที่จะทำบุญเฉลี่ยคนละ 2,000 บาท ทำอาหารที่บ้านคนละ 1,550 บาท ไปเยี่ยมญาติรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เฉลี่ยใช้จ่ายคนละ 5,300 บาท การเลี้ยงสังสรรค์ เฉลี่ยคนละ 2,100 บาท และส่วนใหญ่ร้อยละ 64.7 ยังจะเดินทางท่องเที่ยว เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากโครงการภาครัฐ ประชาชนมากกว่าร้อยละ 97 ตั้งใจจะใช้เงินจากนโยบายภาครัฐ ซึ่งจะใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 5,180 บาท แต่ส่วนใหญ่จะไปแบบเช้า-เย็นกลับ ทำให้ประมาณการณ์ว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีเงินสะพัด 112,867 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากคนยังกังวลสถานการณ์โควิด-19 ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยประชาชนกว่าร้อยละ 57 ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3 ซึ่งหากรัฐบาลจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา แม้จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ประชาชนกว่าร้อยละ 68 ยังไม่เห็นด้วยกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะควรจะฉีดวัคซีนให้คนในประเทศในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อน
ส่วนกระแสข่าวรัฐบาลจะพิจารณาปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 แม้ว่าหลายรัฐบาลจะให้คงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 โดยขณะนี้รัฐบาลได้ออกมายืนยันแล้วว่า ยังไม่มีแนวคิดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งเห็นว่าปีนี้และปีหน้า ยังไม่ใช่เวลาที่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันภาระทางการคลังของประเทศ และหนี้สาธารณะของไทยยังไม่เกินสัดส่วนที่ตั้งไว้ร้อยละ 60 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ยังถือว่าน้อยมาก เพราะบางประเทศทะลุเกินร้อยละ 100 ซึ่งตามหลักการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ก็มีความจำเป็นจะต้องใช้นโยบายการเงินการคลัง มาเป็นเครื่องมือให้เศรษฐกิจขยายตัวอยู่แล้ว จึงมองว่ายังไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้ เพราะจะไปซ้ำเติมภาระของประชาชน ที่ครอบคลุมไปถึงทุกคน และการขึ้นภาษีก็ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ทันที
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินว่า บรรยากาศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ยังไม่คึกคักมากนัก แม้คนจะเริ่มมั่นใจเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น เพราะเป็นปีที่มีวันหยุดยาวหลายวัน แต่เงินสะพัดน้อยกว่าที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าใช้จ่ายกว่า 140,000 ล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และสนับสนุนแนวทางที่ภาคเอกชน พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในจังหวัดภูเก็ตให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ เพราะต้องฉีด 2 โดส จึงใช้ระยะเวลา เพื่อให้ทันกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้ภาคเกษตร
ส่วนเรื่องการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วง 2 ปีนี้ ไม่ควรที่จะปรับขึ้น เพราะปีนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน และแม้ในปีหน้าที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เท่าเดิมก่อนช่วงเกิดวิกฤตโควิดก็ตาม แต่ประชาชนยังไม่เข้มแข็งมาก และยังเจอภาระภาษีที่ดินหลังจากลดการจ่ายภาษีถึงร้อยละ 90 ดังนั้น ถ้ามีการขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้การใช้จ่ายทั้งประเทศเกิดการชะงัก แต่หากภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ในปีนี้ และร้อยละ 4 ในปีหน้า ภาครัฐ จะมีเงินมากขึ้นจากภาษีสรรพสามิต ตามการใช้จ่ายเพื่อซื้อรถ-ซื้อบ้านที่เพิ่มขึ้นแทน.-สำนักข่าวไทย