กรุงเทพฯ 4 มี.ค. – ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่องคาดหวังโควิด-19 คลี่คลาย
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 152.19 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.8% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม นักลงทุนคาดหวัง
การคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 จากการที่ไทยได้รับวัคซีนลอตแรกเป็นปัจจัยหนุนหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ นักลงทุนสนใจลงทุนในหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดธนาคาร (BANK) และหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดแฟชั่น (FASHION) และหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
ภาพรวมในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 SET index มีความเคลื่อนไหวในกรอบแคบ อยู่ระหว่าง 1,478.05 – 1,523.11 ซึ่งในเดือนนี้มีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2563 ซึ่งหดตัวลงที่ระดับ -6.1% จากผลกระทบต่อเนื่องของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่ทำให้อุปสงค์ภายนอกประเทศทั้งการส่งออกสินค้าและบริการในภาพรวมยังคงอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง และในช่วงปลายเดือน FTSE Russell ประกาศลดสัดส่วนหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนโดยรวมยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่ FED ประกาศใช้มาตรการ QE อัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง การมาถึงของวัคซีน Covid-19 “ซิโนแวค” ลอตแรก และการที่มีนักลงทุนรายใหม่เปิดบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์จำนวนมากเกือบแสนบัญชีเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ OR ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ SET Index ปิดที่ 1,496.78 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.03% จากเดือนก่อนหน้า
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การทยอยคลาย Lock Down ในหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาหลังจากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา และผลการประชุมของ 3 ธนาคารกลางหลัก (Fed, ECB และ BoJ) หลัง Bond Yield ในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ กระบวนการแจกจ่ายวัคซีน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในวาระสามซึ่งหากไม่ได้รับความเห็นชอบ อาจส่งผลต่อเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองอีกครั้ง”
นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ที่ระดับ 47 เพิ่มขึ้นจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ “ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)” สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนมีนาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว และคาดว่า ธปท. ยังต้องติดตามการขยายตัวเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการการคลังที่จะออกในปีนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย . – สำนักข่าวไทย