กรุงเทพฯ 19 ก.พ.-ปตท.เผยโควิด19 กระทบกำไรปี 63 อยู่ที่ 37,766 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.4 เชื่อมั่นปี 2564เศรษฐกิจฟื้นตัว เตรียมลุยอีวีเต็มตัวตั้ง”ออน-ไอออน โชลูชั่นส์” บริการสถานีชาร์จไฟฟ้านอกปั๊มน้ำมัน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปี 2563 ปตท.มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 37,766 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 59.4 จากปี 2562 อยู่ที่ 92,951 ล้านบาท โดยมียอดขายปี 2563 อยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.2 จากปี 2562 อยู่ที่ 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 4/2563 มีกำไรสุทธิ 13,147 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 24.6 จากงวดเดียวกันของปี 2562 และลดลงร้อยละ 6.9 จากไตรมาสก่อน โดยยอดขายไตรมาส 4/2563 อยู่ที่ 407,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.3 จากงวดเดียวกันของปี 2562 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากไตรมาสก่อน ขณะที่สิ้นปี 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบปิดที่51.1ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากสิ้นปี 2563ราคาปิดที่ 67.3 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ปี 2563ขาดทุนสตอกน้ำมัน 19,000ล้านบาท จากปี 2562มีกำไรสตอกน้ำมัน 2,800 ล้านบาท ส่วน ปี 2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที 55-60ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปี 2563 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 42.2 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ภาพรวมกำไรในปี 2563 ที่ปรับลดลง สาเหตุหลักจากธุรกิจสํารวจและผลิตปิโตรเลียมที่ผลการดําเนินงานปรับลดลงตามราคาขายเฉลี่ยที่ลดลง แม้ปริมาณขายจะเพิ่มขึ้นโดยหลักจากโครงการมาเลเซียและกลุ่ม Partex ภายหลังการเข้าซื้อธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีก่อน ประกอบกับผลการดําเนินงานของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่ลดลงอย่างมากเช่นกัน
นอกจากนี้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสําเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลง จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดําเนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายที่ลดลงตามราคาปิโตรเคมีอ้างอิงในตลาดโลกปรับลดลงและปริมาณขายที่ลดลง อย่างไรก็ตามผลการดําเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้น จากการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ในช่วงปลายไตรมาส 1/2562
สำหรับความคืบหน้าโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 5 มีความคืบหน้าแล้วร้อยละ 92.42 ส่วนท่อส่งก๊าซฯ จากสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ราชบุรี – วังน้อยที่ 6 ไปยัง จ.ราชบุรี คืบหน้าแล้วร้อยละ 99. 70 จะแล้วเสร็จในปีนี้ ขณะที่การนำเข้า LNG ปัจจุบัน ปตท. มีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาวกับ Qatargas, Shell, BP และ Petronas จำนวน 5.2 ล้านตันต่อปี และมีความพร้อมในการจัดหา LNG เพื่อรองรับปริมาณการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ผมเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ ไม่เร็ว ยังต้องใช้เวลากว่าจะกลับมาฟื้นตัวเท่ากับปี 2562 ไม่ทั่วถึง เพราะการฟื้นตัวในแต่ละภาคธุรกิจ จะไม่เท่ากัน และยังมีความไม่แน่นอน จากสถานการณ์การควบคุมโรคและวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดย ปตท. พร้อมร่วมขับเคลื่อนด้วยการสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงาน ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตไปด้วยกัน ตามกรอบแนวคิด ‘Powering Thailand’s Transformation’” นายอรรถพล กล่าว
ส่วนแผนวิสาหกิจ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) กลุ่ม ปตท. เตรียมแผนลงทุนในวงเงินรวม 850,573 ล้านบาท (ไม่รวมโครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการลงทุนหรือแสวงหาโอกาสในการลงทุน) เพื่อลงทุนในธุรกิจหลักเช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 การขยายขีดความสามารถของ LNG Receiving Terminal แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure) ในระยะ 5 ปีข้างหน้า จำนวน 804,202 ล้านบาท เพื่อการขยายการลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวครบวงจร (LNG Value Chain) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการเชื่อมต่อระหว่างธุรกิจก๊าซธรรมชาติสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้า (Gas-to-Power) ห่วงโซ่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า (Electricity Value Chain) ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Life science เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพของคนไทย โดยการจัดตั้งบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตามกลยุทธ์การบริหารจัดการด้านความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และการกำกับดูแล (Governance) เพื่อสร้างความสมดุลในการตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเป็นรูปธรรม
ตลอดปี 2563 กลุ่ม ปตท. ร่วมเคียงข้างคนไทย ให้ก้าวผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เดินหน้าโครงการ Restart Thailand เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างทักษะอาชีพ ผ่านการจ้างแรงงาน พนักงาน และนักศึกษาระดับ ปวช.- ปริญญาตรีในทุกภูมิภาค รวมกว่า 25,000 อัตรา และสนับสนุนงบประมาณ 851 ล้านบาท เพื่อจัดหาและแจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ พัฒนาชุดตรวจคัดกรอง COVID-19 สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ได้มีการทบทวนค่าเป้าหมายระยะยาวของการควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม ปตท. ในปี 2573 โดยลดการปล่อยจาก 20 %เป็น 27 %เทียบกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานตามปกติ รวมถึงมีการนำกลไกราคาคาร์บอนประกอบการพิจารณาการลงทุนในโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งทางตรงและทางอ้อม (GHG Scope 1 และ 2) อีกด้วย
ล่าสุดกลุ่ม ปตท. ได้มีบริษัทเรือธงใหม่ด้านน้ำมันและการค้าปลีก คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ซึ่งเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในประเทศ ส่วนคณะกรรมการบริษัทอัลฟา คอม จำกัด (“Alpha Com”) บริษัทที่ปตท.จัดตั้งขึ้น มีมติจัดตั้งบริษัทออน-ไอออน โชลูชั่นส์ จำกัด (“On-I on Soluion”) ด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาทเพื่อดำเนินการและพัฒนาครือข่ายสถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ ไฟฟ้า (EV Charging Station) นอกสถานึบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้ำ ไรงแรม อาคารสำนักงาน รวมถึงจำหน่ายสินค้าและ ให้บริการที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น จัดจำหน่ายและติดตั้ง EV Charge ในที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท.-สำนักข่าวไท