กรุงเทพฯ 26 ม.ค. – สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เผยผลกระทบโควิด-19 ภาคแรงงานท่องเที่ยว ตกงาน 4 ล้านคน และการระบาดระลอกใหม่อาจตกงานเพิ่มอีกกว่า 2 ล้านคน เสนอรัฐเร่งเยียวยา รักษาการจ้างงาน และพัฒนาคนท่องเที่ยว รับโอกาสหลังวิกฤติ
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย แถลงผลการศึกษาดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย ประจำไตรมาส 4/2563 ซึ่งผลการสำรวจพบว่าดัชนีอยู่ที่ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/2563 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ และคาดการณ์ว่าดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2564 อยู่ที่ 53 ถือว่าต่ำมากผิดปกติ เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 และคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวรายภาค กรุงเทพมหานครแย่ที่สุด แต่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือดีที่สุด รองลงมาคือ ภาคเหนือ
ทั้งนี้ พบว่าธุรกิจนำเที่ยวปิดกิจการมากที่สุด ร้อยละ 23 รองลงมาคือ ธุรกิจบันเทิง ร้อยละ 22 ธุรกิจสปา นวดแผนไทย ร้อยละ 21 และธุรกิจโรงแรมที่พัก ร้อยละ 20
แรงงานท่องเที่ยวกระทบหนักพิษโควิด
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวจำนวนกว่า 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากการถูกพักงานชั่วคราว และถูกลดเงินเดือน ซึ่งระบาดระลอกใหม่ อาจจะทำให้ภาคแรงงานท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะรักษาการจ้างงานได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ เชื่อว่าเมื่อมีวัคซีนการท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจจะปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เสียโอกาสต่อภาคการท่องเที่ยวไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเห็นว่าจำเป็นต้องเร่งสร้างธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ถูกเลิกจ้าง ถูกพักงาน สามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างงานผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการ
วอนรัฐเร่งเยียวยารักษาการจ้างงาน-พัฒนาคน
ด้านนางมาริสา สุโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และนายกสมาคมโรงแรมไทย เสนอภาครัฐประคองผู้ประกอบการให้ผ่านช่วงวิกฤติโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้ เช่น มาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 2 ปี มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการ Co-pay รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังคงจ้างงานอยู่ เป็นเวลา 1 ปี
ด้านนายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เสนอว่า หลังจากไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้แล้ว มาตรการแรกที่ต้องทำคือการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ครอบคลุมสินค้าการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การกระตุ้นการเดินทางและจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพรีเมียมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยแผนงานต่างๆ ต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อม เกิดสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ยกระดับมาตรฐานและมีศักยภาพพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป.-สำนักข่าวไทย