กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. – ยอดใช้น้ำมัน 10 เดือนแรกของปีนี้ หดตัวลงร้อยละ 13 เหตุจากผลกระทบโควิด-19 ยอดใช้น้ำมันภาคพื้นดินฟื้นตัวชัดจากนโยบายภาครัฐ “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่วนน้ำมันเครื่องบินยอดใช้ต่อเดือนเริ่มกระเตื้อง
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.–ต.ค.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.0 โดยกลุ่มเบนซิน ลดลงร้อยละ 2.4 กลุ่มดีเซล การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.3 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.6 (ในขณะที่ยอดใช้เฉลี่ยเดือน ต.ค.63 อยูที่ 32.65 ล้านบาร์เรล/วัน ใกล้เคียงกับ ต.ค.62 ที่ 32.69 ล้านบาร์เรล/วัน) แยกเป็นน้ำมันเบนซินลดลง 17.6 เฉลี่ยยอดยอดใช้อยู่ที่ 0.8 ล้านลิตร/วัน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ปริมาณการใช้ลดลงร้อยละ 1.9 เฉลี่ยยอดใช้อยู่ 30.5 ล้านลิตร/วัน โดยแก๊สโซฮอล์ อี 85 มีปริมาณการใช้ลดลงมากที่สุด ร้อยละ 29.2 เฉลี่ยใช้ 0.9 ล้านลิตร/วัน ร้อยละ 29.2 รองลงมาเป็นแก๊สโซฮอล์ 91ลดลงร้อยละ 14.1 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 8.2 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์อี 20 มีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดลดลงร้อยละ 0.3 เฉลี่ยยอดใช้ 6.4 ล้านลิตร/วัน แก๊สโซฮอล์ 95 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 มาเฉลี่ยอยู่ที่ 15.0 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ 64.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 3.6 (ยอดใช้เดือน ต.ค.63 อยู่ที่ 60.88 ล้านบาร์เรล/วัน ต่ำกว่า ต.ค.62 ที่มียอดใช้เฉลี่ย 65.32 ล้านบาร์เรล/วัน) โดยบี 7 มีปริมาณการใช้ลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 44.0 ล้านลิตร/วัน หรือลดลงร้อยละ 27.0, ยอดใช้บี 10 อยู่ที่ 14.7 ล้านลิตร/วัน (เริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.62) และบี 20 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 ล้านลิตร/วัน
ด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 7.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น ร้อยละ 60.0 เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ภาครัฐยังคงมีมาตรการควบคุมและอนุญาตให้บุคคลเฉพาะกลุ่มเดินทางเข้าออกประเทศ ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไม่มาก ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมัน JET เดือน ต.ค.63 เฉลี่ยอยู่ที่ 4.8 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเปรียบเทียบกับ ก.ย.ที่ 4.43 ล้านบาร์เรล/ต่อวัน พบว่าความต้องการใช้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยการท่องเที่ยวภายในประเทศฟื้นตัวจากช่วงวันหยุดยาวที่รัฐบาลประกาศเพิ่มเติม และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการใช้ JET ต่ำสุดเมื่อเดือน พ.ค.ที่ 2.01 ล้านบาร์เรล/วัน และเคยสูงสุดที่ 21.61 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อเดือน ก.พ.63
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 15.3 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 14.6 โดยปริมาณการใช้ในภาคขนส่งลดลงมากที่สุด โดยมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 27.7 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี ซึ่งมีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.1 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 18.5 ถัดมาเป็นภาคอุตสาหกรรมมีปริมาณการใช้ลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 8.8 และภาคครัวเรือนมีปริมาณการใช้ลดลงน้อยที่สุดโดยการใช้อยู่ที่ 5.5 ล้านกก./วัน ลดลงร้อยละ 5.2 การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 3.8 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 29.5 สอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ที่ใช้ NGV เป็นเชื้อเพลิงลดลง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 886,172 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 8.0 การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 850,397 บาร์เรล/วัน หรือลดลงร้อยละ 2.1 คิดเป็นมูลค่า 37,741 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นผลจากการลดลงทั้งปริมาณนำเข้า และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และสำหรับน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 35,775 บาร์เรล/วัน ( ร้อยละ 62.0) คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวม 1,655 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยานและน้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 187,380 บาร์เรล/วัน (ร้อยละ 12.9) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 8,308 ล้านบาท/เดือน ( ร้อยละ 25.8) ซึ่งลดลงโดยเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง.-สำนักข่าวไทย