กรุงเทพฯ 25 พ.ย. – รมว.ทส.ติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เผยคืบหน้าร้อยละ 80 คาดรู้อายุและซากสิ่งมีชีวิตในอีก 1 เดือน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไป ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อติดตามการสำรวจขุดค้นโครงกระดูกวาฬ โดยขณะนี้ขุดค้นกระดูกวาฬได้ร้อยละ 80 ของลำตัว
สำหรับการสำรวจขุดค้นซากวาฬดำเนินการโดยกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังได้รับแจ้งการค้นพบจากบริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด เจ้าของพื้นที่ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา พบว่าชิ้นส่วนกระดูกวาฬสะสมตัวอยู่ในตะกอนดินเหนียวทะเลโบราณ โครงกระดูกวาฬเปลี่ยนสภาพจากการแทนที่ของแร่ธาตุอื่นยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มีสภาพค่อนข้างเปราะบาง ดังนั้น จึงสำรวจขุดค้นตั้งแต่วันที่ 9 -15 พฤศจิกายน ประกอบด้วย กระดูกสันหลังที่สมบูรณ์ 19 ชิ้น กระดูกซี่โครงข้างละ 5 ชิ้น สะบักไหล่และแขน (ครีบ)
ต่อมาคณะสำรวจได้เข้าพื้นที่ เพื่อทำการสำรวจเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พบชิ้นส่วนกระดูกวาฬเพิ่มเติม รวมมากกว่าร้อยละ 80 ได้แก่ กระดูกสันหลังส่วนลำตัวถึงส่วนคอ กระดูกซี่โครง และกะโหลกพร้อมขากรรไกรสภาพสมบูรณ์ ซึ่งนำตัวอย่างไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการและเตรียมศึกษาวิจัยเพื่อระบุสายพันธุ์ นอกจากนี้ คณะสำรวจยังพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ บริเวณโดยรอบ เช่น ฟันฉลาม ฟันกระเบน เปลือกหอย ปูทะเล เพรียงทะเล และเศษไม้ โดยผลวิเคราะห์อายุด้วยวิธีศึกษาธาตุคาร์บอน-14 (C-14) คาดว่าจะทราบประมาณอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า
นายวราวุธ กล่าวต่อว่า โครงกระดูกวาฬที่พบห่างจากชายฝั่งทะเลปัจจุบันประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งชี้ถึงการรุกของน้ำทะเลเข้ามาในแผ่นดินเมื่อหลายพันปีก่อน อีกทั้งสามารถศึกษาประวัติและวิวัฒนาการของวาฬและสัตว์ทะเลในอดีต รวมทั้งทราบถึงความหลากหลายทางชีวภาพจากการพบซากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมกับวาฬ ส่วนการศึกษาทางธรณีวิทยาด้วยวิธีการเจาะสำรวจศึกษาชั้นตะกอนดินและเทียบสัมพันธ์สามารถแปลความหมายถึงสภาพแวดล้อมในอดีต การหาขอบเขตชายทะเลโบราณในพื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ตลอดจนศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลปัจจุบันและอนาคตที่มีผลจากปัจจัยทางธรณีวิทยาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะศึกษาวิจัยเรื่องนี้โดยละเอียดต่อไป.-สำนักข่าวไทย