ระยอง 13 พ.ย. – ใครไปเที่ยว จ.ระยอง มักนึกถึงทะเล ชายหาดสวยอาหารอร่อย แต่ระยองเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งการกู้ชาติ และยังเป็นเมืองอุตสาหกรรมและกำลังจะเป็นเมืองแห่งการสร้างนวัตกรรม
ที่ว่าเป็นเมืองที่เกี่ยวข้องแห่งการกู้ชาติก็เนื่องจากย้อนกลับไปช่วงเสียกรุงศรีอยุทธยาครั้งที่ 2 ราว 253 ปี พระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อครั้งเป็นพระยาตากนำทัพทหารกล้า 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งออกสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกมา ตั้งค่ายชุมพล ณ บริเวณวัดลุ่ม อ.เมืองจ.ระยอง เป็นที่มาของคำต่อท้ายชื่อวัดลุ่มว่า “มหาชัยชุมพล” และบริเวณที่ตั้งค่ายมีต้นสะตือใหญ่ (ต้นในภาพต้นไม้ ต้นใหญ่ในศาลพระเจ้าตาก) เคยใช้ผูกช้างศึกประจำพระองค์ ชื่อ “พังคีรีบัญชร” พระยาตากประทับนั่งใต้ต้นสะตือนี้ เรียกประชุมคณะกรรมการเมืองและราษฎรชาวระยอง ประกาศเจตจำนงในการกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า เป็นกุศโลบายกระตุ้นจิตสำนึกทหารให้ฮึกเหิมไปทวงคืนเอกราช บรรดาแม่ทัพที่สวามิภักดิ์ พร้อมกันใจยกให้พระยาตากเป็นผู้นำขบวน แล้วเรียกว่า พระเจ้าตากสินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก่อนจะบุกยึดเมืองจันทบุรีให้สวามิภักดิ์ แล้วรวมพลกรีฑาทัพทางเรือกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า
สำคัญเช่นนี้ จังหวัดระยอง ได้ร่วมกับมูลนิธิการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และกลุ่ม ปตท. ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้และนิทรรศการสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจังหวัดระยองขึ้น อยู่ในพื้นที่ใกล้ศาลพระเจ้าตาก โดยกลุ่ม ปตท.สนับสนุน ราว 40 ล้านบาท เปิดมา 3 เดือน คนมาถึง 9,000 คนเปิดให้เข้าชมฟรี ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ วันละ 4 รอบตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. และหยุดทุกวันจันทร์ ศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการทั้งหมด 6 โซน ได้แก่ อวสานสิ้นโยธยา, มุ่งบูรพาสรรหาไพร่พล, ประกาศตนองค์ราชันย์, สร้างเขตธ์ขันกรุงธนบุรี
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บอกว่า ระยองเป็นบ้านแห่งการลงทุนของกลุ่ม ปตท.ตั้งแต่มีโรงแยกก๊าซมีการลงทุนต่อเนื่องในมาตาพุดและกำลังส่งเสริมวังจันทร์วัลเลย์เป็นเมืองพัฒนานวัตกรรม การสนับสนุนมัลติมีเดีย อุทยานการเรียนรู้ระยองก็เป็นการร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์และจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 5 ธันวาคม 2560 โดยคาดหวังให้แหล่งเรียนรู้และสร้างความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอีกด้วย .- สำนักข่าวไทย