กรุงเทพฯ 28 ต.ค. – ERS เสนอปรับแผนพลังงานชาติ แก้ไขสำรองไฟฟ้าล้น ค่าไฟฟ้าแพง ด้วยการยกเลิกแผนซื้อไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้าระบบ ตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี เดินหน้ากฎหมายกองทุนน้ำมัน ตามแผนไม่อุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ แนะประกาศยกเลิกอี 85, บี 20, แก๊สโซฮอล์ 91 เร่งเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบ 23 เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS ) ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านทำงานร่วมกันเข้าสู่ปีที่ 7 ได้แถลงข้อเสนอแนวทางปรับนโยบายด้านพลังงานหลากหลายด้าน โดยจะเสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เร็ว ๆ นี้ เช่น ลดสำรองไฟฟ้าที่สูงถึงร้อยละ 50 กระทบต้นทุนไฟฟ้าของภาคประชาชน ซึ่งเป็นผลกระทบโควิด-19 และเทคโนโลยีพลังงานทดแทน ทำให้สำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราปกติร้อยละ 15
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำ ERS กล่าวว่า จากเศรษฐกิจตกต่ำ ความต้องการไฟฟ้าลดลง ถ้าเป็นสินค้าทั่วไป อัตราค่าไฟฟ้าก็ควรลดลง แต่จากสำรองไฟฟ้าสูงทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และยังมีแนวโน้มสำรองเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากโรงไฟฟ้าใหม่ที่กำลังจะก่อสร้างเสร็จเข้าระบบ ดังนั้น จึงขอเสนอให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) โดยยกเลิกในส่วนของกำลังผลิตใหม่ ให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล, ทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐานและสร้างแรงจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพมากกว่าระบบปัจจุบันที่รับประกันผลตอบแทน, ในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้ปรับระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order โดยจัดให้โรงไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา และรัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้ และไม่ต่อใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น
ระยะยาวควรจัดตั้งตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรี เปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้า LNG ไปแล้ว การแข่งขันตลอดสายจะทำให้ระบบมีทั้งความมั่นคงและได้ค่าไฟฟ้าที่ต่ำลงสำหรับผู้บริโภค โดยควรเตรียมการออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน
นอกจากนี้ ขอเสนอให้ไทยกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวม ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (Carbon Neutral) ภายในปี 2593 หรือ ค.ศ. 2050 โดยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด รวมทั้งนำระบบ Carbon Tax/Carbon Pricing มาใช้
นายคุรุจิต นาครทรรพ หนึ่งในแกนนำ ERS กล่าวว่า ขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ได้แก่ การเปิดแข่งขันประมูลปิโตรเลียมรอบ 23 การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ
“กรณีแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณที่จะต้องเปลี่ยนโอเปอเรเตอร์ก็ควรจะเปลี่ยนผ่านตามแผน เพราะหากสะดุดจะกระทบความมั่นคงพลังงาน โดย 2 แหล่งนี้ผ่านจุดการผลิตสูงสุดไปแล้วที่เคยผลิต 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต จะเหลือเฉลี่ย 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็ถือว่าลดลง ขณะที่การนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาป้อนโรงแยกก๊าซไม่ได้ ไม่ช้าไม่เร็วเราอาจต้องนำเข้าแอลพีจี ไทยจึงต้องเร่งหาแหล่งก๊าซใหม่ ๆ มาป้อน” นายคุรุจิต กล่าว
นายมนูญ ศิริวรรณ หนึ่งในแกนนำ ERS กล่าวว่า ขณะนี้ทราบว่าท่าทีกระทรวงพลังงานจะแก้ไขกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่จะยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน 3 ปี โดยเห็นควรคงไว้เช่นเดิม เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งควรลดชนิดเชื้อเพลิงยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91, อี 85 และบี 20 เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายการเมือง ไม่เกี่ยวข้องความมั่นคงด้านพลังงานแต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย