สำนักข่าวไทย 21 ต.ค.- Eastern Economic Corridor, EEC : เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก
ตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์ 4.0 โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยถือเป็นหัวใจสำคัญและกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงการค้า การลงทุน ทั่วภูมิภาคเอเชีย ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่ผ่านมา และเพื่อต่อยอดความสำเร็จดังกล่าว รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor, EEC) เพื่อยกระดับพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และ ฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของเอเชีย โดยได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ การศึกษาระบบราง (รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก แอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนปัจจุบันและส่วนต่อขยาย และรถไฟฟ้าสายสีแดง) เพื่อเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา และมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 และท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ อีกทั้งพัฒนาโครงข่ายรถไฟเชื่อมโยง 3 ท่าเรือ และพัฒนาระบบการจัดการขนส่งแบบบูรณาการทั้งรถไฟและท่าเรือแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ซึ่งเป็นโครงการหลักของ EEC ที่ต้องการยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับโลก พร้อมส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม อันจะช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC โดยรัฐบาลได้ประกาศเขตส่งเสริมขึ้นเพื่อช่วยขับเคลื่อนพื้นที่ EEC ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ใน 5 พื้นที่ อันประกอบด้วย
1. เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital ParkThailand: EECd) ตั้งอยู่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี บนพื้นที่ 709 ไร่ เพื่อขยายและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลรองรับการเป็นศูนย์กลางข้อมูล (Data Hub) ของอาเซียน
2. เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก: เมืองการบินภาคตะวันออก (Special EEC Zone: Eastern Airport City ตั้งอยู่บนพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์กลางการบิน เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในอีก 5 ปีข้างหน้า ที่คาดว่าจะมีมากถึง 15 ล้านคน/ปี และจะเพิ่มความสามารถในการรองรับเป็น 35 ล้านคน/ปี ในอีก 10 ปี และ 60 ล้านคน/ปีในอีก 15 ปีข้างหน้า
3. นิคมอุตสาหกรรม Smart Park อยู่ที่ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,466 ไร่
4. นิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 อยู่ที่ จ.ระยอง ครอบคลุมพื้นที่ 1,900 ไร่
5. เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation, EECi) “ระบบนิเวศนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก” เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และสมบูรณ์ รองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ด้วยนวัตกรรม ซึ่งมีการลงทุนร่วมรัฐและเอกชน 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปี แรก ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจากทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้นัวตกรรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในตลาดโลก
โดย EECi ได้กำหนดแผนการดำเนินงานในการผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 6 กลุ่มอุตสาหกรรม (6 Innovation Clusters) ได้แก่
1) เกษตรสมัยใหม่และนวัตกรรม (Modern Agriculture and Innovation)
2) เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio-chemicals)
3) แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่ (High Performance Battery and Modern Transports)
4) ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Automation, Robotics, and Intelligent Electronics)
5) เทคโนโลยีการบินและอวกาศ (Aviation and Aerospace)
6). เครื่องมือแพทย์ (Medical Devices)