กรุงเทพฯ 20 ต.ค. – รมว.เกษตรฯ กำชับกรมชลประทานเร่งระบายน้ำท่วม 17 จังหวัด มั่นใจสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว สั่งทุกหน่วยงานระดมช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและประชาชน ด้านปลัดเกษตรฯ เผยพื้นที่เกษตรเสียหายกว่า 7 แสนไร่ เข้าสำรวจเพื่อช่วยเหลือด่วน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร (20 ต.ค.) ว่า ยังคงมีน้ำท่วม 17 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ กำแพงเพชร อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี เพชรบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ทั้งนี้ กรมชลประทานได้นำเครื่องจักร-เครื่องมือ รวมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ประจำทุกพื้นที่เสี่ยงก่อนหน้าเกิดภัยแล้ว โดยปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายโดยเร็ว เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ว่าไทยจะมีฝนลดลง
สำหรับ จ.นครราชสีมา ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างถึง 18 อำเภอ ได้แก่ ปากช่อง สูงเนิน ชุมพวง วังน้ำเขียว พิมาย เมือง จักราช ลำทะเมนชัย ขามสะแกแสง โนนไทย โนนสูง แก้งสนามนาง บัวใหญ่ ด่านขุนทด ปักธงชัย โชคชัย เทพารักษ์ และขามทะเลสอ โดย อ.เมือง มีน้ำจากลำเชียงไกรเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ชุมชนบ้านลำเชิงไกร ต.โคกสูง น้ำเริ่มลดลง แต่ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่การเกษตร แต่บ้านโนนสะอาด อ.โชคชัย น้ำสูงกว่าตลิ่ง 54 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น บ้านด่านกะตา อ.เฉลิมพระเกียรติ น้ำสูงกว่าตลิ่ง 87 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยกรมชลประทานเร่งบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) อัษฎางค์ ข่อยงาม และกันผม เพื่อระบายน้ำออกจาก อ.เมือง ไปลงแม่น้ำมูล จ.อุบลราชธานี ในลำน้ำมูลเริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี สูง 60-70 ซม. เร่งกั้นกระสอบทรายเพื่อสูบน้ำออกแล้ว ด้าน จ.บุรีรัมย์ ยังคงมีน้ำท่วมพื้นที่เกษตร อ.คูเมือง และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ อ.สตึก ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ด้าน จ.ปราจีนบุรี ได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ ได้แก่ กบินทร์บุรี และศรีมหาโพธิ โดยยังมีน้ำไหลหลากท่วมพื้นที่ ถ.สุวรรณศร ต.บ้านนา อ.กบินทร์บุรี ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสูงกว่าตลิ่ง 23 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดมเครื่องสูบน้ำเข้าช่วยเหลือ จ.เพชรบุรี ได้รับผลกระทบ 4 อำเภอ ได้แก่ ชะอำ แก่งกระจาน ท่ายาง และหนองหญ้าปล้อง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังน้ำที่ไหลผ่านตัวเมือง แม้ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำสะพานตลาดเทศบาล อ.เมือง ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 2.01 เมตร แต่แนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงบริหารจัดการน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนเพชรลดลง และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณ อ.เมือง 28 เครื่อง รถแบ็กโฮ 5 คัน รถเครน 1 คัน รถบรรทุก 8 คัน กองทัพเรือติดตั้งเรือผลักดันน้ำที่สะพานวัดคุ้งตำหนัก 20 ลำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า สั่งการให้กรมชลประทานนำรถแบ็กโฮ 5 คัน ขุดคลองสาบใหญ่ฝั่งขวา-ปตร.โพธิ์เตี้ย ต.หมื่นไวย อ.เมือง รวมระยะทาง 11 กม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ อ.เมือง นครราชสีมา ลงสู่ลำน้ำบริบูรณ์ รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำเขื่อนลำพระเพลิงและลำตะคอง โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำน้อยที่สุด สำหรับ จ.สระแก้ว ได้รับผลกระทบ 8 อำเภอ ได้แก่ คลองหาด เมือง ตาพระยา โคกสูง เขาฉกรรจ์ วังน้ำเย็น วัฒนานคร และอรัญประเทศ ปัจจุบันมีน้ำท่วมขัง อ.เมือง และอรัญประเทศ ระดับน้ำสูง 30-60 ซม. น้ำในคลองพระปรง คลองวังจิก ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นผิวถนน อ.วัฒนานคร และวังน้ำเย็น ระดับน้ำสูง 20 ซม.-1.10 เมตร ทั้งนี้ ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำบ้านสระขวัญ สูงกว่าตลิ่ง 58 ซม. แนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งโครงการชลประทานสระแก้ว ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 4 เครื่อง และเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำบริเวณสะพานบ้านแก่งสีเสียด
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า กำชับให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ล่าสุดพืชได้รับผลกระทบ 15 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี นครราชสีมา บุรีรัมย์ สระแก้ว ปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สตูล สุราษฎร์ธานี และตรัง เนื้อที่ 707,085 ไร่ เกษตรกร 98,140 ราย พื้นที่ 707,085 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 316,686 ไร่ พืชไร่ 334,543 ไร่ พืชสวนและอื่น ๆ 55,856 ไร่ ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี กระบี่ และตรัง เกษตรกร 206 ราย บ่อปลาเสียหาย 182 ไร่ กระชัง 260 ตร.ม.
ส่วนปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 3 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกร 988 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 77,421 ตัว แบ่งเป็น โค-กระบือ 11,470 ตัว สุกร 3,779 ตัว แพะ-แกะ 880 ตัว สัตว์ปีก 61,292 ตัว แปลงหญ้า 60 ไร่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ 5,600 ตัน ถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 3,000 ถุง คอกสัตว์สำหรับตั้งจุดอพยพสัตว์ 30 ชุด และทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 325 หน่วย ได้ดำเนินการอพยพสัตว์แล้ว 1,828 ตัว แจกจ่ายเสบียงอาหารสัตว์พระราชทาน 25.2 ตัน สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 1,096 ตัว รักษาสัตว์ 19 ตัว และถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 102 ถุง ด้านกรมประมงสนับสนุนเรือตรวจประมงน้ำจืดลำตะคอง 03 พร้อมเจ้าหน้าที่ 6 นาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.นครราชสีมา
“ส่วนจังหวัดอื่นยังมีน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตร กรมชลประทานเร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ แนวโน้มระดับน้ำลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติใน 2-4 วัน” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย