กรุงเทพฯ 19 ต.ค. – ทอท.ลุ้นเร่งใช้วัคซีนรักษาโควิด-19 เผยล่าสุดมีเงินสด 4.1 หมื่นล้าน คาดใช้ได้ถึงกลางปีหน้า หากผิดแผน-เล็งกู้ระยะสั้นบริหารรายจ่าย ขณะที่มีผู้โดยสารใช้สนามบินภายในประเทศวันละ 8-9 หมื่นคน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภาพรวมแผนการดำเนินงาน ว่า ปัจจุบันยังสามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยปีงบประมาณที่ผ่านมามีรายได้ 4 เดือน และสามารถครอบคลุมรายจ่ายได้ตลอด 8 เดือนที่เหลือที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในเบื้องต้น ประเมินว่าช่วงตรุษจีน 2564 สถานการณ์อาจจะยังไม่ฟื้นตัว
ขณะที่สถานะทางการเงินปัจจุบัน ทอท.มีกระแสเงินสดประมาณ 41,000 ล้านบาท ซึ่งตามคาดการณ์หากวัคซีนรักษาโควิด-19 ออกมาใช้กลางปี 2564 ก็ยังสามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ถึงเดือนมิถุนายน 2564 หากเกินกว่านั้น ทอท.อาจจะต้องกู้เงินระยะสั้น เพื่อมาช่วยบริหารจัดการ โดยจะต้องมีการคำนวณว่าจะต้องดำเนินการกู้เท่าไหร่
สำหรับแผนการดำเนินการปี 2564 นั้น ทอท.มีแผนลงทุนประมาณ 13,000-14,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการเก็บจากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) นั้น ปัจจุบันมีผู้โดยสารภายในประเทศรวมทั้งหมดประมาณ 80,000-90,000 คนต่อวัน ทำให้มีรายได้จาก PSC เฉลี่ย 100 บาทต่อคน รวมรายได้ประมาณ 8-9 ล้านบาทต่อวัน หรือ 240-270 ล้านบาทต่อเดือน
นายนิตินัย กล่าวภายหลังรายงานนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงการเตรียมความพร้อมในการลงพื้นที่ตรวจความก้าวหน้างานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและห้องปฏิบัติการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 วันที่ 21 ตุลาคม 2563 ว่า วันนี้ (19 ต.ค.) ได้รายงานและสรุปรายละเอียดก่อนการลงพื้นที่ของนายศักดิ์สยาม วันที่ 21 ตุลาคมนี้ โดยจะมีการตรวจห้องปฏิบัติการคัดกรองตรวจเชื้อโควิด-19 รวมถึงการตรวจความก้าวหน้าของการดำเนินการการก่อสร้าง อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) รวมถึงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่าง ๆ
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการถึงการซ่อมแซมหรือก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) และทางขับเครื่องบิน (แท็กซี่เวย์) ว่า ในช่วงที่มีปริมาณเที่ยวบินน้อยสามารถเร่งรัดในการซ่อมแซมได้หรือไม่ พร้อมทั้งให้บริหารจัดการตารางการบินให้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการดำเนินการซ่อมแซมนั้น ขณะนี้ยังคงดำเนินการได้ตามแผน และมีแนวโน้มว่าจะเร็วขึ้น ในส่วนของการประกาศตารางการบินล่วงหน้านั้น ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้รับเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ
ส่วนการซ่อมแซมใหญ่ด้วยการเปลี่ยนตัวแอสฟัลท์เป็นคอนกรีตในพื้นที่ 700,000 ตารางเมตรนั้น นายนิตินัย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคา สำหรับการซ่อมแซมใหญ่ครั้งนี้ เนื่องจากมีรอยร่องล้อ โดยแผนดำเนินการนั้น จะเริ่มปีงบประมาณ 2564 ซึ่งกระทรวงคมนาคมต้องการให้มีการกระชับเวลาดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรกได้มีการดำเนินการอนุมัติการประมูลไปแล้วเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และหากจัดการเกี่ยวกับตารางการบินได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาเหลือประมาณ 2 ปีครึ่ง จากเดิมตามแผน 3-4 ปี.-สำนักข่าวไทย