กรุงเทพฯ 2 ต.ค. – กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจับมือ บสย.เดินหน้าโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อผู้ผ่านการพัฒนาทักษะที่ต้องการต่อยอดประกอบการชีพอิสระ คาดจะมียอดค้ำประกันสินเชื่อ 29,300 ล้านบาท และช่วยอุ้มแรงงาน 95,000 คน
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ โครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดย บสย.จะค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมที่มีความประสงค์จะกู้เงินเพื่อต่อยอดประกอบอาชีพอิสระหรือเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงสนับสนุนวิทยากรให้คำปรึกษาและเชิญสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อ โครงการดังกล่าวดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนให้มีอาชีพมั่นคงยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้มีรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รองรับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจด้วยการจัดสวัสดิการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการประกอบอาชีพอิสระ
นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดี กพร. กล่าวว่า จะเปิดโอกาสให้แรงงานฝึกอบรมวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างเครื่องปรับอากาศ ช่างเชื่อม ช่างปูกระเบื้อง ช่างทาสีอาคาร ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างควบคุมเครื่องกัดเครื่องกลึง CNC เป็นต้น โดยปี 2563 มีกลุ่มเป้าหมายผ่านการฝึกอบรมใช้บริการ 17,427 คน กพร.จะช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างและต้องการสร้างอาชีพ 2. กลุ่มผู้ว่างงานที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ และ 3.กลุ่มที่ให้ความรู้ด้านช่างและอาชีพต่าง ๆ และต้องการผันตัวเองเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระให้ความรู้และฝึกทักษะต่าง ๆ ภายใต้ 3 หน่วยงานหลักคือ 1. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 77 ทั่วประเทศ จัดหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบฝีมือแรงงาน 2.สำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก หน่วยงานทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและหลักสูตรการอบรม Online 3.กองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ดูแลและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ SMEs ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานในสถานประกอบการตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน รับรองความรู้ความสามารถและการประกันคุณภาพ และ แอปพลิเคชั่น “รวมช่าง” เพื่อเป็นศูนย์รวมช่างมืออาชีพ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า บสย.ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะและส่งเสริมการประกอบอาชีพ ภายใต้แนวคิด ” บสย.เพื่อนแท้ SMEs ไทย ทางรอดใหม่ คู่ใจยามวิกฤติ” ซึ่งการร่วมมือของ กพร. บสย. และธนาคารพันธมิตรครั้งนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบจากการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. 29,300 ล้านบาท และช่วยอุ้มแรงงาน 95,000 คน ให้กลับมามีอาชีพและทางรอดในการฝ่าวิกฤติ COVID-19 ทาง บสย.ได้ประสานให้การค้ำประกินสินเชื่อ ได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 3 โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ไทยชนะและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Startup and Innobiz ผ่านสถาบันการเงินที่พร้อมจะให้สินเชื่อแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม รวม 4 ธนาคารที่มีโครงการสินเชื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและอาชีพอิสระต่าง ๆ และบสย.ยังนำเสนอศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs หรือ บสย. F.A. Centre ที่เป็นทั้ที่ปรึกษาทางการเงินและศูนย์ให้ข้อมูลความรู้สู่การเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระต่าง ๆ
สำหรับธนาคารที่พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อขณะนี้มี 4 ธนาคาร เตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระ 8 โครงการ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อเพื่อ Street food วงเงิน 3 ล้านต่อราย 2. โครงการสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ วงเงิน 1 ล้านบาทต่อราย 3. โครงการสินเชื่อประชาชนสุขใจ วงเงิน 200,000 บาทต่อราย 4. โครงการสินเชื่อสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 50,000 บาทต่อราย 5. โครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 50,000 บาทต่อราย ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อธุรกิจรายย่อย วงเงิน 200,0000 บาทต่อราย, ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงิน 200,000 บาทต่อรายและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ สินเชื่อฮักบ้านเกิด
สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานของไทยปัจจุบันคาดว่า ยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID -19 จากข้อมูล ไตรมาส 2/2563 การประเมินสถานการณ์แรงงาน โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 1.6 ล้านคน แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 1.1 ล้านคน และ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน (ประชากรวัยแรงงาน อายุ 15-60 ปี) 38.2 ล้านคน โดยในไตรมาส 4/2563 ประมาณการว่า จะมีผู้ว่างงานสะสมจำนวน 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานสะสม 6.5% แบ่งเป็นกลุ่มผู้ว่างงาน 2 ล้านคน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ 5 แสนคน และมีกำลังแรงงาน 38.4 ล้านคน.-สำนักข่าวไทย