กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – บีโอไอนำนักลงทุนรายใหญ่ไทยและต่างชาติ 16 ราย ประชุมร่วมนายกรัฐมนตรี ขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี เผย 6 เดือนแรกปีนี้ มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 85,480 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า วันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) บีโอไอร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) จะเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ในพื้นที่อีอีซี 16 ราย ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอากาศยาน เครื่องจักรกลขั้นสูง เคมีภัณฑ์ขั้นสูง โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรม เข้าพบและประชุมร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสตรวจเยี่ยมพื้นที่ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากนักลงทุนในพื้นที่ ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี
สำหรับในช่วง 6 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 225 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 85,480 ล้านบาท แบ่งเป็นจังหวัดชลบุรี 120 โครงการ เงินลงทุน 39,990 ล้านบาท จังหวัดระยอง 76 โครงการ เงินลงทุน 33,320 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 29 โครงการ เงินลงทุน 12,170 ล้านบาท
นางสาวดวงใจ ระบุว่าการพัฒนาพื้นที่อีอีซีเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในส่วนของบีโอไอ จัดมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษสำหรับพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการเป้าหมายที่จะมีส่วนสำคัญช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย โดยเดือนมกราคมปีนี้บีโอไอได้ออกแพ็กเกจใหม่ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้ดึงดูดการลงทุนมากขึ้น โดยปรับสิทธิประโยชน์และเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ กิจการในกลุ่มที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี ตามสิทธิพื้นฐานเกือบทุกประเภท (กลุ่ม A1, A2, A3) ยกเว้นกิจการบางกลุ่ม เช่น กิจการที่ไม่มีที่ตั้งสถานประกอบการชัดเจน กิจการที่มีเงื่อนไขบังคับเรื่องที่ตั้งสถานประกอบการซึ่งไม่อยู่ใน 3 จังหวัดอีอีซี เป็นต้น กิจการในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้แก่ ไบโอเทค นาโนเทค วัสดุขั้นสูง และดิจิทัล และกิจการที่สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย เช่น กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ กิจการวิจัยและพัฒนา กิจการบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้มีการกำหนดเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์เพิ่ม 2 ทางเลือก ได้แก่ เกณฑ์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเกณฑ์ที่ตั้ง โดยสามารถเลือกดำเนินการทั้งสองเกณฑ์ควบคู่กันเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสูงสุด หรือเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งก็ได้ โดยจะได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มจากเกณฑ์ปกติที่ได้รับตั้งแต่ 1-3 ปี แล้วแต่กรณี.-สำนักข่าวไทย