อุบล 27 ก.ย. – พาณิชย์มั่นใจสินค้าโคเนื้อ-เกษตรอินทรีย์ไทยเนื้อหอม หนุนเกษตรกรอุบลฯ ใช้เอฟทีเอส่งออกไปตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อติดตามงานตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ที่เน้นพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ให้เข้มแข็งสามารถผลิตและจำหน่ายสินค้าทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และหารือกับผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการกับศูนย์ฯ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปและอาหารสามารถจำหน่ายในตลาดอีสานใต้ได้ในราคาเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ครั้งนี้ยังร่วมหารือกับเกษตรกรโคเนื้อและเยี่ยมชมศักยภาพของฟาร์มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มโคเนื้อคูเมือง อำเภอวารินชำราบ โดยได้สร้างความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมโคเนื้อเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลก ซึ่งอุบลราชธานีเป็นแหล่งเลี้ยงโคเนื้อมากกว่า 300,000 ตัว และส่งออกไปตลาดสำคัญอย่างเวียดนามและกัมพูชา พร้อมทั้งแนะนำให้เน้นการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพ สร้างแปลงหญ้าหรือพืชอาหารชนิดอื่นเป็นของตนเอง เพื่อลดต้นทุนและสามารถควบคุมคุณภาพได้
นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์โนนกลาง อำเภอสำโรง ซึ่งเป็นต้นแบบของการรวมกลุ่มเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ มีผลผลิตหลายชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ ผักบุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ สลัดใบแดง และคะน้า เป็นต้น โดยปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเชื่อว่าความเข้มแข็งของสินค้าเกษตรจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ให้ดีขึ้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อมุ่งเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการทุกภูมิภาคทั่วประเทศใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี 13 ฉบับ ส่งออกไปตลาดคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ เช่น อาเซียน จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งประเทศคู่ค้าส่วนใหญ่ลดภาษีนำเข้าให้ไทยเหลือร้อยละ 0 เกือบทั้งหมด ยกเว้นอินเดีย คงเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 30 ประกอบกับสินค้าโคเนื้อและเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก จึงเป็นข้อได้เปรียบของไทยในการแข่งขันทางการค้า
ทั้งนี้ ไทยส่งออกสินค้าโคมีชีวิตเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับ 6 ของโลก โดยปี 2562 ไทยส่งออกโคมีชีวิตสู่ตลาดโลก 319 ตัน มูลค่า 189.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 ไทยส่งออกโคมีชีวิต 222 ตัน มูลค่ากว่า 127.96 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 12.55 คู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สปป.ลาว 93.71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 11.93 เวียดนาม 15.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,541.63 มาเลเซีย 6.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.93 กัมพูชา 6.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4,655.04 และเมียนมา 5.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6,916.38 และจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกโคมีชีวิตของไทยปีนี้เติบโตขึ้น เนื่องจากบางประเทศไม่สามารถนำเข้าโคเนื้อจากออสเตรเลีย จึงหันมานำเข้าจากไทย เพราะเชื่อมั่นว่าสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยเป็นต้น.-สำนักข่าวไทย