กรุงเทพฯ 15 ก.ย. – เปิดมหกรรม IP Fair 2020 ชูนวัตกรรมโลกสีเขียว รวบรวมผลงานนวัตกรรมด้านทรัพย์สินทางปัญญา
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยภายหลังเปิดงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ IP Fair ครั้งที่ 18 ภายใต้แนวคิด “Innovate for a green future” สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งการปลูกจิตสำนึกในการเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการสร้างแรงบัลดาลใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เป็นผลงานนวัตกรรมและสามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์รองรับการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจไปสู่ยุค Green New Normal หรือ วิถีใหม่เพื่อโลกสีเขียว
สำหรับกิจกรรมภายในงาน IP Fair 2020 ประกอบด้วย 1.โซนแสดงผลงาน อาทิ การจัดแสดงนิทรรศการผลงานนวัตกรรม (IP Show Case) 30 ผลงาน การแสดงผลงานของผู้ชนะรางวัล IP Champion และ DIP Photo Contest 2. โซนให้คำปรึกษา อาทิ การให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Clinic & IDE Center) และการให้คำปรึกษาด้านต่างๆ จาก 10 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง (IP Service) 3. โซนจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และ 4. การสัมมนาให้ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การสัมมนาพลิกเกมธุรกิจด้วยระบบ “Madrid” การสัมมนาหัวข้อ “การสื่อความคิดผ่านเลนส์กล้อง สะท้อนมุมมอง IP เพื่อโลกสีเขียว” การสัมมนาหัวข้อ “สิทธิบัตรเปลี่ยนโลก : อนาคตเทคโนโลยีสีเขียว” เป็นต้น โอกาสเดียวกันนี้ กรมฯ ยังได้มอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติกับผู้ชนะ IP Champion และมอบรางวัลให้กับผู้ชนะ Photo Contest ซึ่งมีรางวัลมูลค่ากว่า 200,000 บาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการ นักวิจัย และประชาชนคนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวได้ระหว่างวันที่ 15 – 16 กันยายนนี้ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานมากกว่า 1,000 คน และเกิดเงินสะพัดภายในงานมากกว่า 10 ล้านบาท
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/09/IP-Fair1-1-1024x682.jpg)
อย่างไรก็ตาม ปี 2564 กรมฯ ได้งบ 20 ล้านบาท ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์และการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญา ส่วนการยื่นคำขอรับสิทธิบัตรด้านนวัตกรรมทั้งของคนไทยและต่างชาติเฉลี่ยปีละ 8,000 ฉบับ โดยในจำนวนนี้เป็นของคนไทยประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 800 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นการยื่นจดสิทธิบัตรด้านวิศวกรรม และสิทธิบัตรด้านอาหาร แปรรูปอาหาร สูตรอาหาร เป็นต้น และในช่วงมีการระบาดโควิด-19 พบว่ามีการขอยื่นจดสิทธิบัตรทั้ง หน้ากากอนามัย เครื่องทำความสะอาดหน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ มีการยื่นขอจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาพยายามสร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการไทยที่คิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ ได้จดสิทธิบัตรเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในส่วนของอาเซียนเป็นตลาดส่งออกของไทยมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมด แต่บางประเทศในอาเซียนยังไม่มีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีกฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งไทยจะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือและผลักดันให้ประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะไม่เช่นนั้น จะกระทบต่อการส่งออกและการเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการไทย ที่ขณะนี้มีการบุกตลาดอาเซียนกันเป็นอย่างมาก.-สำนักข่าวไทย