กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ รับหนังสือร้องเรียนถึงความเดือดร้อนจากการยกเลิกพาราควอต ทำวัชพืชเต็มแปลง แย่งธาตุอาหารอ้อย ด้านสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยชี้ปีนี้ผลผลิตอ้อยตกต่ำจนกระทบอุตสาหกรรมน้ำตาลที่สร้างรายได้เข้าประเทศ
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับฟังข้อร้องเรียนจากผู้แทนสมาคมชาวไร่อ้อยในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งต้องการให้ช่วยเหลือ เนื่องจากเดือดร้อนจากการแบนพาราควอตสารกำจัดวัชพืชที่ใช้กันมานานหลายสิบปี โดยเกษตรกรระบุว่าสารกลูโฟซิเนต ซึ่งกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกนั้น ออกฤทธิ์แบบกึ่งเผาไหม้กึ่งดูดซึมจึงเข้าสู่ระบบรากอ้อย ทำให้อ้อยชะงักการเจริญเติบโต ต่างจากพาราควอตซึ่งออกฤทธิ์เผาไหม้เฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียว จึงทำลายเฉพาะวัชพืชที่ถูกฉีดพ่น นอกจากนี้ราคาของกลูโฟซิเนตยังแพงกว่าพาราควอตหลายเท่า ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ผลผลิตด้อยลงทั้งคุณภาพและปริมาณ ดังนั้น ขอให้รัฐบาลทบทวนแบนพาราควอตแล้วกลับไปใช้มาตรการจำกัดการใช้ ซึ่งเกษตรกรจำนวนมากอบรมวิธีใช้รู้ปริมาณและวิธีฉีดพ่นที่ถูกต้อง รวมถึงการสวมชุดป้องกันอย่างเหมาะสม
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ยินดีรับหนังสือแจ้งความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยเช่นเดียวกับที่กลุ่มอื่น ๆ มาเข้าหารือก่อนหน้านี้ ซึ่งชี้แจงให้เกษตรกรเข้าใจถึงกระบวนการปฏิบัติทางกฎหมายว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่มีอำนาจในการยกเลิก แต่ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) ถึงข้อเรียกร้องของเกษตรกรทุกกลุ่ม ส่วนจะมีการพิจารณาทบทวนหรือไม่ ขึ้นกับ คกก.วอ.
นอกจากนี้ เกษตรกรยังแจ้งถึงผลการทดลองใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชอื่น ซึ่งระบุว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่าพาราควอต ขณะเดียวกันทางกรมวิชาการเกษตรรายงานว่ายังไม่มีสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชได้ มีเฉพาะกำจัดแมลงศัตรูพืชเท่านั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ จึงหาแนวทางช่วยเหลือ โดยเบื้องต้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลดต้นทุนการผลิตด้านอื่น ๆ อีกทั้งมีโครงการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรให้สหกรณ์การเกษตรต่าง ๆ นำไปให้สมาชิกหมุนเวียนใช้ แต่พื้นที่เกษตรของไทยมีจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาสักระยะกว่าที่จะจัดสรรให้ครอบคลุมทั้งหมด
นายเลียบ บุญเชื่อง ที่ปรึกษาชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมีข้อจำกัด ทั้งเรื่องราคาสูง กรณีฝนตกและดินชื้นไม่สามารถนำเครื่องจักรกลเข้ากำจัดวัชพืชได้ เพราะจะบดอัดดินแน่นส่งผลต่อระบบรากของพืชหลัก
นายเนย สุขประเสริฐ อุปนายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา กล่าวว่า เมื่อ คกก.วอ.มีมติห้ามใช้พาราควอตเกษตรกรทดลองใช้กลูโฟซิเนตตามคำแนะนำ แต่ไม่ได้ผลและราคาแพง ขณะนี้หญ้าสูงเทียมต้นอ้อย ผลผลิตอ้อยทั้งประเทศลดลงแน่นอน
ด้านนางสาวทิพยาวรรณ ยงประโยชน์ เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อผลผลิตอ้อยลดจะทำให้อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงได้รับผลกระทบด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การแบนพาราควอตมีข้อน่ากังขาหลายประการ การแบนครั้งนี้เป็นการแบนสารเคมีชนิดหนึ่ง เพื่อไปใช้สารเคมีอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้เช่นกันว่า อันตรายน้อยกว่าพาราควอต จึงสมควรที่จะทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ผลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ แล้วจึงหามาตรการบริหารจัดการการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เหมาะสมต่อไป.-สำนักข่าวไทย