กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – ก.เกษตรฯ เดินหน้ามาตรการเกษตรวิถีใหม่ ชี้การพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ไม่ใช่แนวทางยั่งยืนอีกต่อไป ย้ำต้องพัฒนาให้เกษตรกรยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า เรียนรู้เทคโนโลยี และปรับตัวให้เท่าทันวิกฤติต่าง ๆ ก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer และทำเกษตรกรรมยุค 4.0 ได้เป็นอย่างดี
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สั่งการให้ทุกหน่วยงานส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ หรือ New Normal เนื่องจากทุกภาคส่วนของประเทศได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน จึงต้องมีกระบวนการฟื้นฟู โดยรัฐได้ดำเนินมาตรการเยียวยา รวมทั้งทำโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ จากนี้ไปเกษตรกรจำเป็นต้องเรียนรู้การพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เพื่อพัฒนาภาคเกษตรให้ดีขึ้นด้วยแนวทางใหม่ ๆ
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคการเกษตรไทยพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก แต่จากนี้อาจไม่ใช่เส้นทางเดียวที่นำไปสู่ความยั่งยืน จึงมอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งพัฒนาความสามารถของเกษตรกรในการผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพและมีมาตรฐานยิ่งขึ้น เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง ปรับตัวในสถานการณ์วิกฤติต่างๆ ได้ พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถให้ก้าวสู่ความเป็น Smart Farmer ในภาคเกษตรกรรมยุค 4.0
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ขยายตลาดสู่ช่องทางตลาดออนไลน์ให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยในสถานการณ์โควิด-19 ประชาชนหันมาจับจ่ายใช้สอยผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งปัจจุบันมีระบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สามารถส่งถึงผู้บริโภคได้โดยตรง นอกจากนี้ จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นตัวเลือกหนึ่งในการท่องเที่ยวของคนในประเทศ สอดคล้องกับแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ เช่น มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านการเกษตร วิถีดำรงชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนดังกล่าวต้องยกระดับการให้บริการ โดยยึดหลักความสะอาด ปลอดภัย และมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวด มีอาหารและผลผลิตทางการเกษตรวางจำหน่าย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า เกษตรวิถีใหม่ให้ความสำคัญต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกษตร นำผลผลิตมาแปรรูปหรือทำให้สินค้ามีราคามากขึ้น เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทั้งสินค้าอาหาร ผ้าและสิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์จากวัตถุดิบทางการเกษตร เป็นต้น การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ จะมีความสำคัญมากขึ้นในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนเช่น ระบบฟาร์มอัจฉริยะที่มีการควบคุม ติดตามผล และวิเคราะห์เกี่ยวกับการทำเกษตรผ่านสมาร์ทโฟน เป็นต้น รวมทั้งพัฒนามาตรฐานสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิต รวมทั้งผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จัดทำศูนย์การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเพื่อสร้างองค์ความรู้ในการทำเกษตรแบบสมัยใหม่และช่วยให้ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสถานการณ์วิกฤติต่าง ๆ ได้ สิ่งสำคัญคือ เกษตรกรต้องสามารถพึ่งพาตนเองได้จึงจะทำให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้เพิ่มพูนขึ้น.-สำนักข่าวไทย