กรุงเทพฯ 8 ก.ย. – มาแล้ว! “แท็กซี่” นัดรวมพลบุก “คมนาคม-ทำเนียบ” เรียกร้อง – รอคำตอบ “บิ๊กตู่” ขอยกเลิกแก้ กม. ไฟเขียวรถป้ายดำวิ่งให้บริการผ่านแอปฯ พร้อมให้ขยายอายุใช้รถเป็น 12 ปีตลอดไป พ่วงดูแลต้นทุนประกอบการให้เป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (8 ก.ย. 2563) เวลาประมาณ 09.00 น. สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่นัดรวมพลคนขับรถแท็กซี่, ผู้ประกอบการอู่แท็กซี่ และสหกรณ์แท็กซี่ทุกกลุ่มที่บริเวณหน้ากระทรวงคมนาคมและทำเนียบรัฐบาล นำโดยนายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมฯ ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องและรอคำตอบจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยในการนัดรวมพลดังกล่าว ทางสมาคมฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อขอใช้พื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินนอก (หน้ากระทรวงคมนาคม) และบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่เวลา 06.00 น.
สำหรับข้อเรียกร้องของสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่นั้น ประกอบด้วย ขอให้ยกเลิกการร่างกฎหมายและแก้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ. 2522 อนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคล (รถยนต์และรถจักรยานยนต์ป้ายดำ) รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันหรือระบบอื่นใด พร้อมทั้งให้ยกร่างกฏหมายรถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) แก้ไข พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ให้ขยายอายุรถแท็กซี่ จากเดิม 9 ปีให้ขยายอายุเป็น 12 ปีตลอดไป
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ทบทวนประกาศกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) บังคับให้รถยนต์รับจ้างสาธารณะ (แท็กซี่) ต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS TAXI OK ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้กับผู้ประกอบการรถแท็กซี่ จากการออกกฏหมายบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา รวมถึงเรียกร้องให้ทบทวนต้นทุนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการแท็กซี่ที่ต้องแบกรับสูงขึ้น เช่น ค่าก๊าซ NGV ควรให้คงที่ราคาไม่เกิน 10 บาท/กิโลกรัม
อีกทั้งยังขอให้ช่วยเหลือดอกเบี้ยรถแท็กซี่ที่มีการกำหนดดอกเบี้ยจากไฟแนนซ์ เพื่อขอความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการแท็กซี่ เนื่องจากในปัจจุบันดอกเบี้ยรถแท็กซี่มีการคิดแพงกว่ารถยนต์ทั่วไปถึง 15% ต่อปี ทั้งนี้ ดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการแท็กซี่สามารถรับได้นั้น ไม่ควรเกิน 5% ต่อปีเทียบเท่ากับรถยนต์ทั่วไป
ขณะเดียวกัน สมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ ยังเรียกร้องในส่วนของค่าเบี้ยประกันรถยนต์รับจ้างสาธารณะแท็กซี่ ประเภท 3 + พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัย ให้ปรับลดลงมาเทียบเท่ากับรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากในปัจจุบันราคาจ่ายค่าประกันรถยนต์รับจ้างแท็กซี่ + พ.ร.บ.ชั้น 3 สูงถึง 17,000 บาท/ปี/คัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการแท็กซี่ มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพแท็กซี่ . – สำนักข่าวไทย