กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – พ่อค้าแม่ค้าโอด ชิมช้อปใช้เฟสใหม่ หรือโครงการคนละครึ่งยุ่งยาก รับเงินสดดีกว่า หวั่นผู้สูงอายุเข้าไม่ถึงมาตรการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทยลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนหลังศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ.เห็นชอบมาตรการ “คนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศวงเงิน 45,000 ล้านบาท ให้ประชาชน 15 ล้านคน ซึ่งตามนโยบายจะเป็นการแจกเงินให้คนละ 3,000 บาท เพื่อซื้อของกับผู้ค้ารายย่อย โดยผู้ที่เข้าร่วมโครงการต้องจ่ายเงินค่าสินค้าครึ่งหนึ่งและรัฐบาลจะช่วยจ่ายอีกครึ่ง ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพื่อเป็นช่องทางในการรับและจ่ายเงิน พร้อมเตรียมเปิดให้ลงทะเบียนทั้งร้านค้าและประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการผ่าน www.คนละครึ่ง.com คาดจะเริ่มใช้ได้จริงในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้นั้น พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยและหาบเร่แผงลอยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะมองว่ากระบวนการค่อนข้างยุ่งยาก และเกรงว่าจะไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ
นางวาสนา ทองมาก เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวไก่ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีความน่าสนใจ เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นยอดขาย ซึ่งต้องรอให้เปิดโครงการจริง ๆ แล้วจะพิจารณารายละเอียดอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร ยุ่งยากหรือไม่ เพราะปกติค้าขายด้วยเงินสดก็ได้รับความสะดวกดี อยากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาพูดคุยก่อน จึงจะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ยอมรับว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาได้สร้างวิกฤติครั้งใหญ่แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่มีลูกค้า รายได้หดหาย เคยคิดจะเพิ่มช่องทางเดลิเวอร์รี่แต่อาจจะต้องจ้างคนเพิ่มและหาคนมาช่วยดูแล ซึ่งมองว่าไม่คุ้มและไม่เข้าใจกับกระบวนการที่ต้องใช้แอปพลิเคชั่น
นางลั่นทม ผาสุข เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะรู้สึกวุ่นวาย ขอขายแบบเดิมดีกว่า รับเงินสด ซื้อง่ายขายคล่องกว่า และมองว่ากระบวนการลงทะเบียนและรับเงินยังยุ่งยาก
นายสราวุธ รักธง เจ้าของร้านน้ำชง กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพนักงานออฟฟิศ ในช่วงโมงเร่งด่วน คนเยอะ การซื้อขายด้วยเงินสดคล่องตัวกว่า และมองว่าการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นยุ่งยาก เสียเวลา ถ้าแอปพลิเคชั่นล่ม หรือแสกนไม่ติด ลูกค้าอาจจะต้องกรอกรายละเอียดใหม่ เราขายคนเดียว บางทีก็ไม่ได้เช็คว่าเงินเข้าระบบหรือไม่
นางสาวเบญจรัตน์ เพียรธัญญการ เจ้าของร้านส้มตำ กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะเป็นการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน เพราะบางครอบครัวเงิน 250 บาท ก็เลี้ยงได้ทั้งครอบครัว ช่วยแบ่งเบาภาระได้หลายบ้านหลายครอบครัว ราคาร้านอาหารแผงลอยก็ไม่ได้สูงมาก ลูกค้าสามารถเลือกซื้อได้หลายอย่าง สำหรับร้านค้าอย่างเราไม่มีปัญหาในการลงทะเบียน เพราะมีการเปิดบริการเดลิเวอร์รี่ผ่านแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว ส่วนร้านอื่นที่ไม่ได้ใช้แอปพลิเคชั่นอาจจะรู้สึกยุ่งยาก แต่มองว่าศึกษาได้ ควรจะมีวิธีการและขั้นตอนบอกอย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไร จึงจะสามารถเปิดให้บริการระบบนี้ได้ เป็นสิ่งที่ต้องค่อย ๆ เรียนรู้ อย่างไรก็ตาม อยากให้โครงการนี้ออกมาไว ๆ เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน โดยเฉพาะคนตกงาน
นายชิตณรงค์ จันทะชัย ประชาชนย่านพระรามเก้า กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีช่วยค่าครองชีพประชาชน เพราะช่วงที่ผ่านมารายได้หดหาย อยากให้แจกเงินสดแบบครั้งเดียว 3,000 บาทเลย ไม่อยากให้แบ่งเป็นก้อน ๆ และผ่านแอปพลิเคชั่น มันยุ่งยาก และผู้สูงอายุก็ไม่เข้าใจกับกระบวนการขั้นตอนอาจจะไม่มีโอกาสได้รับสิทธ์.– สำนักข่าวไทย