กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – ราคายางพุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี กยท.ขานรับนโยบาย รมว.เกษตรฯ ผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับถุงมือยาง
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/09/กยท.309-1024x575.jpg)
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานเสวนา “พลังรัฐวิสาหกิจไทย วิถีไทย วิถียั่งยืน” จัดโดยชมรมรัฐวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ ชรส. เพื่อสะท้อนบทบาทของรัฐวิสาหกิจไทยในการขับเคลื่อนด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของประเทศ
สำหรับราคายางปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 60 บาทต่อกิโลกรัม ครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราคา 60.11 บาทต่อกิโลกรัม ราคายางมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนสั่งซื้อปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้นและผู้บริโภคในจีนยังมีพฤติกรรมการหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ล้อยางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ เช่น โครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนนจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน
ทั้งนี้ กยท.ได้ขานรับนโยบายนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สั่งให้เร่งขับเคลื่อนไทยเป็นฮับถุงมือยางของโลก โดยใช้โมเดล “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” รุกตลาดถุงมือยาง ซึ่งคาดการณ์ปี 2563 มีความต้องการใช้กว่า 360,000 ล้านชิ้น มูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขการส่งออกถุงมือยางของไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกและมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 8-15% จึงเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสดีของชาวสวนยางและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทยทั้งตลาดเดิมและตลาดในกลุ่มประเทศผู้ใช้ถุงมือยางรายใหม่ที่มีความต้องการสูง โดยจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ไทยเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในการส่งออกน้ำยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพาราแท้ 100%
นางอรวดี โพธิสาโร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญของการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างยั่งยืน คือ การรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น มีโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ ป่าในกรุง มีโครงการ CSR ทำให้ชุมชนอยู่ได้อย่างมีความสุข ถือเป็นความสำเร็จของการดำเนินงานของ ปตท.ที่ไม่เพียงแต่การมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานประเทศชาติแต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตให้กับคนในประเทศด้วย
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.มีนโยบายขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกิดเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อให้คนและธนาคารเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย