กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – นักวิชาการทรัพยากรน้ำเผยลุ่มน้ำยมจะเผชิญน้ำท่วม-น้ำแล้งซ้ำซากและอาจรุนแรงขึ้น หากพายุเข้าหรือฝนตกต่อเนื่องนาน เหตุไม่มีอ่างเก็บน้ำรองรับ ส่วนลุ่มน้ำน่าน ฝนตกหนัก 3-4 วันที่ผ่านมามากกว่าปี 2554 แต่มีเขื่อนสิริกิติ์รองรับ จึงบรรเทาผลกระทบได้มาก
นายณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำยมมีความเสี่ยงน้ำท่วมมาก แม้ไม่มีพายุเข้าไทย โดยช่วง 3-4 วันที่ผ่านมาฝนตกหนักต่อเนื่องจากร่องความกดอากาศต่ำกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.น่าน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำน่าน และ จ.แพร่ ต้นน้ำของแม่น้ำยม เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2554 มีพายุเข้า 5 ลูก ได้แก่ ไหหม่า ต่อด้วยนกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ทำน้ำลุ่มน้ำน่านไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ สูงสุด 214.42 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวัน แต่เมื่อวานนี้ (23 ส.ค.) มีน้ำไหลลงอ่างสูงถึง 218.71 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปี 2554
นายณัฐ กล่าวต่อว่า หากไม่มีเขื่อนสิริกิต์น้ำ 218.71 ล้าน ลบ.ม. จะไหลลงมาตอนล่างรวมกับน้ำจากแม่น้ำยม จ.แพร่ ซึ่งส่งผลต่อ จ.พิษณุโลกและพิจิตรอย่างรุนแรง แต่การที่เขื่อนสิริกิติ์สามารถเก็บน้ำดังกล่าวไว้ได้ จึงบรรเทาความรุนแรงของน้ำท่วมด้านท้ายน้ำได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของอ่างเก็บน้ำ
ส่วนน้ำท่วมใหญ่ อ.เวียงสานั้น เนื่องจากฝนตกลงมาวัดได้มากกว่าฝนจากพายุซินลากูถึง 1.5 เท่า โดยอัตราการไหลของน้ำผ่านสถานี N.13A อ.เวียงสา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2,920 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมากกว่าความสามารถรับน้ำสูงสุดของแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ซึ่งท้ายเขื่อนเจ้าพระยารับได้สูงสุด 2,800 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำยม ซึ่งอยู่ติดกับลุ่มน้ำน่านมีฝนตกหนักใกล้เคียงกัน แต่ลุ่มน้ำยมน่าห่วงกว่าลุ่มน้ำน่าน เพราะไม่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้น น้ำที่ไหลจาก อ.เมือง จ.แพร่ จะไหลลงมา อ.วังชิ้น ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง และ อ.เมือง จ.สุโขทัย ตามลำดับ โดยอัตราการไหลเพิ่มขึ้นไปทางท้ายน้ำและยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสามารถผันน้ำจากแม่น้ำยมลงแม่น้ำน่านได้บางส่วน ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมได้พอสมควร แต่ยังเกิดน้ำท่วมสูง
นายณัฐ กล่าวว่า ลุ่มน้ำยมจำเป็นต้องมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยพื้นที่ที่เหมาะสมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยศึกษาไว้แล้ว คือ บริเวณ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ตามโครงการที่กำหนดไว้ อ่างเก็บน้ำนี้มีศักยภาพรองรับน้ำได้มาก จึงบรรเทาภัยน้ำท่วมเป็นอย่างดีและสามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ ปัจจุบันเมื่อฝนตกลงมาในลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำจะหลากอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำยมแห้งขอดซ้ำซากทุกปี จากการศึกษาตามหลักวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ หากขยับพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำต่ำลงมาจากจุดเดิมที่กำหนดไว้จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหรือพื้นที่น้ำท่วมจากการสร้างอ่างเป็นบริเวณกว้างกว่าต้องอพยพประชาชนจำนวนมากกว่า แต่จะเก็บกักน้ำได้น้อยกว่ามาก.-สำนักข่าวไทย