กรุงเทพฯ 18 ส.ค. – กลุ่ม ปตท.พร้อมจ้างงานเพิ่ม-ปรับแผน 3 กลุ่มลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยศึกษาปรับโครงสร้างองค์กรรับการรุกธุรกิจพลังงานทดแทนปลายปีนี้ รับผลกระทบจากโควิด-19 กระทบรายได้ปีนี้ลดลงถึง 2 หลัก ชี้ราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ย 40-45 ดอลลาร์/บาร์เรล
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ได้ขอให้ บมจ.ปตท.ร่วมเป็นหน่วยงานในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับกระทบจากโควิด-19 ซึ่ง ปตท.ได้ดำเนินการหลากหลายเรื่องและจะเน้นเรื่องการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทั้งการจ้างงานตรง โดยบริษัทในกลุ่ม ปตท. และการจ้างงานในรูปแบบเชิงช่วยเหลือสังคมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งกลุ่มกำลังพิจารณาโครงการเพิ่มเติม ขณะเดียวกันได้ดำเนินการรูปแบบการช่วยด้านการตลาดของสินค้าชุมชนทั้งขายผ่านปั๊มน้ำมัน การขายรูปแบบตลาดออนไลน์ เช่น Facebook Line Website www.ชุมชนยิ้มได้.com เป็นต้น เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดแก่ชุมชน การกระตุ้นเศรษฐกิจ…ท่องเที่ยว ส่วนการลงทุนปีนี้ได้ให้นโยบายในกลุ่มเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ทั้งหมด
“โควิด-19 ส่งผลกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งขณะนี้ตัวเลขจีดีพีของไทยหลายฝ่ายประเมินว่าอาจลดลงตั้งแต่ร้อยละ 5-8.8 ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้รับผลกระทบทั้งในแง่ยอดขายและราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ดังนั้น จึงคาดว่ารายได้ปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้ว ไม่ต่ำกว่า 2 หลัก จากที่ปีที่แล้วมียอดขายประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท โดยปีนี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 40-45 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากปีที่แล้วราคาเฉลี่ย 63.5 ดอลลาร์/บาร์เรล อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าครึ่งปีหลังยอดขายน่าจะดีกว่าครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากคลายล็อกดาวน์” นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าว ปตท.ได้วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจัดตั้งศูนย์ PTT Group Vital Center เพื่อรักษาเสถียรภาพมั่นคงทางพลังงาน ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีของไทย นำคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจกลับเข้าสู่การดำเนินงานในสภาวะปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด และยังคงนโยบายทางการเงินอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,053 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 ขณะที่กำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 วงเงิน 10,499 ล้านบาท ลดลง 44,751 ล้านบาท จากในครึ่งแรกของปี 2562
สำหรับการประชุมปรับกลยุทธ์การดำเนินการของกลุ่ม ปตท.ที่ปรับทุกกลางปีนั้น ปี 2563 ได้เน้น 3 กลุ่ม หลักและจะนำไปสู่การปรับงบลงทุนทุก 5 ปี ในช่วงปลายปี เน้นการสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโต สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาว ซึ่งหลายส่วนอาจต้องปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับ โดยจะเห็นภาพชัดเจนในปลายปีนี้เช่นกัน สำหรับกลยุทธ์ 3 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย
1.ธุรกิจขั้นต้น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ไปสู่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ครบวงจร (LNG Portfolio Player ) ขยายการทำตลาดแอลเอ็นจีในต่างประเทศ แสวงหาโอกาสการลงทุน Value chain ของ Gas และ LNG ซึ่งที่ผ่านมา ปตท.ได้ดำเนินการมาบ้างแล้ว ในการแสวงหาพันธมิตร เช่น ลงนามกับ บมจ.บ้านปู ศึกษาทิศทางการลงทุนธุรกิจก๊าซในประเทศร่วมกัน การเตรียมพร้อมในการส่งออกแอลเอ็นจี ตามนโยบาย LNG HUB โดยได้ทดสอบส่งไปจีนด้วยวิธีการ “ISO -Container ” การลงนามสัญญาขายแอลเอ็นจีในประเทศเพื่อใช้กับโรงงานต่าง ๆ การนำเข้าแอลเอ็นจีตลาดจร ซึ่งปีนี้นำเข้ามาแล้ว 7 ลำราคาต่ำเฉลี่ยเพียง 2.5 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยราคาที่นำเข้ามาต่ำสุดคือ 1.78 เหรียญ/บาร์เรล นับเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศทำให้ต้นทุนก๊าซต่ำสุด ขณะเดียวกันได้เน้นเรื่องการขายแอลเอ็นจีในต่างประเทศปีนี้มีสัญญาซื้อขายระยะยาว 12 ลำ ( 720,000 ตัน) ส่งมอบแล้ว 4 ลำ (260,000 ตัน) ซึ่งในส่วนนี้เป็นไปตามเป้าหมายจะขยายธุรกิจเทรดดิ้งปิโตรเลียม ในต่างประเทศ (out-out ) ให้มีสัดส่วน ร้อยละ 50 ใน 3 ปีข้างหน้า จากที่ปัจจุบันมีสัดส่วนร้อยละ 45-47 จากปริมาณเทรดดิ้งรวม 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน และมีอัตราการขยายตัวราวร้อยละ 5-10 ต่อปี
2. ธุรกิจขั้นปลาย เน้นการสร้างมูลค่าทางธุรกิจร่วมกัน (Synergy ) เพิ่มประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน โดยต้องยอมรับว่าปีนี้เป็นช่วงวัฏจักรขาลงของทั้งปิโตรเคมีและโรงกลั่น ดังนั้น จึงต้องร่วมมือเพิ่มมากขึ้นในการลดต้นทุนร่วมให้มากขึ้น
3. ธุรกิจใหม่และพลังงานทดแทน ให้มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของพอร์ตลงทุนในอนาคต โดยจะเร่งพัฒนาและขยายธุรกิจ LIFE SCIENCE อาหารเสริม โลจิสติกส์ ต่อยอดจากธุรกิจ COMMODITY ไปสู่ Advance material การต่อยอดจากธุรกิจน้ำมันไปสู่ธุรกิจไลฟ์ไสตล์ต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของธุรกิจพลังงานทดแทน กลุ่ม ปตท.ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 จะมีกำลังผลิตรวม 8,000 เมกะวัตต์ โดยทั้งกลุ่มจะปรับโครงสร้างธุรกิจรองรับ ซึ่งจะมีศึกษาการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน อินเดีย เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย