ก.คลัง 18 ส.ค. – กรมธนารักษ์เตรียมสรุปลดค่าเช่า AOT ก.ย.นี้ ชี้มีเอกชนรายใหญ่กว่า 10 แห่ง ทำหนังสือขอความช่วยเหลือ พร้อมพิจารณาทุกแห่ง เบื้องต้นทั้งลด-ยกเว้นค่าเช่า รับมีผลทำรายได้ลด แต่เชื่อทั้งปียังเกินเป้า เหตุดึงที่ราชพัสดุที่ กฟผ.ดูแลมาบริหารเชิงพาณิชย์เพิ่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากกรมธนารักษ์ได้รับหนังสือจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ในการขอปรับลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ราชพัสดุ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้อย่างมาก จึงต้องการให้กรมธนารักษ์ปรับลดค่าเช่าดังกล่าวให้ 1 ปี นั้น ล่าสุดนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้จะได้ข้อสรุปว่าปรับลดค่าเช่าให้ได้มากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้ รวมถึงการพิจารณาลดค่าเช่าให้กับเอกชนรายใหญ่อีกกว่า 10 แห่ง เช่น ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับท่าอากาศยานและท่าเรือที่ส่งหนังสือขอปรับลดค่าเช่ามายังกรมธนารักษ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งสูงสุดที่ส่วนลดประมาณ 50% กรมธนารักษ์พร้อมช่วยเหลือทุกรายเพียงแต่เอกชนแต่ละราย ส่งข้อมูลงบดุลและผลประกอบการมาให้กรมพิจารณา และประเมินว่าควรจะปรับลดค่าเช่าอัตราเท่าใดถึงจะเหมาะสม
ขณะเดียวกันยังมีภาคเอกชนรายเล็กที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายได้หายไปทั้งหมด โดยเฉพาะผู้ประกอบการท่องเที่ยว ซึ่งกรมพร้อมยกเว้นค่าเช่าหากภาคเอกชนยื่นเรื่องมาพร้อมกับเอกสารรายได้ต่าง ๆ ที่หายไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เพื่อเป็นการบรรเทาภาระให้ภาคเอกชน กรมธนารักษ์จะเลื่อนเก็บค่าเช่าปีนี้ออกไป เพื่อให้ไปจ่ายในเดือนมกราคม 2564 โดยยกเว้นค่าปรับเงินเพิ่มกรณีจ่ายค่าเช่าล่าช้า 1.5% ของค่าเช่าให้ด้วย
“ปกติเอกชนบางรายจะต้องจ่ายค่าเช่าเดือนกันยายน บางรายเดือนธันวาคม พิจารณาแล้วว่าจะเลื่อนการจัดเก็บค่าเช่าไปมกราคมปีหน้า ส่วนรายใหญ่จะลดค่าเช่า ส่วนลดก็แตกต่างกันไปตามความเดือดร้อน ส่วนรายเล็กเห็นใจก็อาจจะยกเว้นค่าเช่าปีนี้ไปให้เลย” นายยุทธนา กล่าว
นายยุทธนา ยอมรับว่าการลดและยกเว้นค่าเช่าให้กับภาคเอกชนครั้งนี้จะทำให้รายได้ของกรมหายไปพอสมควร แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบกับยอดการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2563 แน่นอน โดยคาดการณ์ว่าจะจัดเก็บได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันจัดเก็บได้แล้ว 9,700 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ 8,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการนำที่ราชพัสดุ ที่ส่วนราชการถือครองมาบริหารเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานอกจากจะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานอย่างทหารบก ทหารเรือ และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขแล้ว ปีหน้าจะขยายไปยังหน่วยงานรัฐวิสาหกิจอีก เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครอบครองที่ราชพัสดุประมาณ 600,000 ไร่ จะนำมาบริหารจัดการ จัดสรรพื้นที่เชิงพาณิชย์มาให้เช่ากับกรมฯ โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีรายได้ปีงบ 2564 เพิ่มขึ้น และสามารถจัดเก็บรายได้ได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน จากเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณที่ 9,200 ล้านบาท
ล่าสุดกรมธนารักษ์ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เพื่อบูรณาการข้อมูลที่ดินระหว่างหน่วยงาน ช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน โดยการกระจายการถือครองที่ดิน ป้องกันการสูญเสียสิทธิ์ จากการจำนอง ขายฝาก บังคับคดี และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติให้มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย สามารถหาเลี้ยงครอบครัว พึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน . – สำนักข่าวไทย