กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – กนอ.ลงนามสัญญาร่วมจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 เขาคันทรง กับสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งเป้าดึงลงทุนอีอีซี 6,000 ล้านบาท สร้างการจ้างงาน 10,000 อัตรา
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. ลงนามในสัญญาร่วมดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) กับบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) สำหรับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) จะพัฒนาบนพื้นที่กว่า 900 ไร่ ด้วยงบลงทุน 2,000 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมฯ แห่งนี้จะพร้อมรองรับการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีปี 2564 เบื้องต้นบริษัทคาดว่าจะดึงดูดการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10,000 อัตราในอนาคตข้างหน้า
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) จะอยู่ที่ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี รองรับการเข้ามาลงทุนของภาคอุตสาหกรรมในเขตอีอีซี ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอุตสาหกรรมเบา เป็นต้น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมตามโครงการอีอีซีแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือ EIA และเมื่อรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบแล้วคาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาพื้นที่ประมาณ 1 ปี และจะพร้อมเปิดรับนักลงทุนที่สนใจใช้พื้นที่ประกอบการได้ในเชิงพาณิชย์ปี 2564
สำหรับรูปแบบการจัดตั้งนิคมฯ ให้ความสำคัญพัฒนารอบพื้นที่ทั้งหมดของโครงการตามแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ Eco Industrial Town ประกอบด้วย พื้นที่สีเขียว พื้นที่แนวกันชนแบบเชิงนิเวศหรือ Eco-Belt รวมถึงการออกแบบให้มีการบริหารจัดการด้านการบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพและนำไปใช้ประโยชน์ภายในโครงการใหม่อีกครั้ง เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ เป็นอีกทางเลือกให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่สนใจลงทุนในพื้นที่ในเขตอีอีซี ที่มีศักยภาพทั้งทางทำเลที่ตั้งความพร้อมในด้านโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ มีโครงข่ายทางด่วนมอเตอร์เวย์ ทางด่วนบางนา-ชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง สนามบินแห่งชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ระบบการขนส่งและการกระจายสินค้าภาคการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย.- สำนักข่าวไทย